Community Zone
เกร็ดความรู้เรื่องประกันสุขภาพ
โดย : zgamez   (5 July 2010) จำนวนผู้เข้าชม 31329 คน

เรื่องประกันสุขภาพสำหรับ Australia & Newzealand ‘s Working & Holiday Visa

ก่อนอื่นต้องขอออกตัวนิดนึง สาเหตุที่เขียนบทความเรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อให้น้องๆ ได้เข้าใจเกี่ยวกับประกันสุขภาพที่ต้องใช้ในการขอวีซ่านี้มากขึ้น เพื่อจะได้เลือกได้ถูกต้องตามความต้องการ โดยข้อมูลทั้งหมดนี้ได้มาจากการอบรมเกี่ยวกับด้านประกันวินาศภัย และอบรมตัวแทนของบริษัทฯ และ case study จากน้องๆ wah ตั้งแต่รุ่นแรกๆ ที่สอบถามและเจอปัญหามา ข้อมูลหลายอย่างจึงให้ได้เป็นภาพกว้างเป็นหลักทั่วๆไป ที่ใช้ทุกบริษัท

เรื่องแรกที่อยากอธิบายก็คือความแตกต่างระหว่างประกันสุขภาพที่ควบในประกันชีวิต กับประกันเดินทาง (ประกันสุขภาพที่เราใช้ในการขอวีซ่านี้) เพราะว่าน้องๆ หลายคนสับสนระหว่างประกันสุขภาพตัวนี้(ต่อไปนี้จะขอเรียกว่าประกันเดินทาง) กับประกันชีวิตและประกันสุขภาพทั่วไปที่เรารู้กัน ประกันสุขภาพที่ใช้สำหรับการขอวีซ่านี้ จะเป็นประกันสุขภาพสำหรับการเดินทางไปต่างประเทศ แล้วมันต่างกับประกันสุขภาพทั่วไปอย่างไร มาฟังกัน

ประกันสุขภาพที่เราๆ คุ้นเคยกันส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นประกันของ AIA ,ไทยประกันชีวิต, หรือบูพา และอื่นๆ อีกมากมาย โดยส่วนใหญ่จะเป็นประกันสุขภาพที่มีกำหนดอัตราค่าห้อง ค่ารักษาพยาบาลใน rate ต่างๆ ซึ่งข้อกำหนดสำคัญๆ คือจะต้องแอดมิทเป็นผู้ป่วยใน จึงจะเบิกในค่ารักษาได้ หรือถ้าจะมีคุ้มครองแบบผู้ป่วยนอกหรือ opd ส่วนใหญ่ก็จะกำหนดอัตราไว้ วันละ 500,700 หรือ 1,000 ต่อวัน และไม่เกิน 30 วันต่อโรคต่อปีเป็นต้น (อัตราต่างๆ เป็นการกำหนดให้เห็นเป็นตัวอย่างค่ะ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและรูปแบบของแต่ละบริษัทฯ) ซึ่งประกันสุขภาพในลักษณะนี้ ถ้าเวลาสมัครอาจจะมีการตรวจสุขภาพ กรอกใบสมัคร ชี้แจงรายละเอียดเพื่อพิจารณาอนุมัติ ซึ่งถ้าถามว่าประกันที่เรามีอยู่เหล่านี้สามารถคุ้มครองในกรณีที่เราอยู่ต่างประเทศมั้ย , นำไปใช้ขอวีซ่าได้มั้ย

ข้อแรกเลยเรื่องความคุ้มครอง ตอบได้เลยว่าคุ้มครองแต่จะคุ้มครองกรณีที่เราอยู่เมืองนอกไม่เกิน 180 วัน ถ้าอยู่เกินก็จะไม่คุ้มครอง (ทั้งนี้ควรจะสังเกตเงื่อนไขความคุ้มครองในเล่มกรมธรรม์ให้ดีๆสำหรับข้อยกเว้น ทั้งนี้พี่ขอใช้มาตรฐานประกันสุขภาพของ AIA เป็นตัวกำหนด เพราะถือว่าครองตลาดส่วนใหญ่ และไม่น่าจะมีเกินกว่านี้ เพราะถูกกรมกำหนดไว้ แต่อาจจะมีน้อยกว่านี้ ควรจะศึกษากรมธรรม์ที่มีอยู่ให้ดี)

ข้อสอง เรื่องขอวีซ่า บอกตรงๆ ว่าไม่สามารถฟันธงลงไปได้ ว่าเขาจะให้ผ่านมั้ย แต่โอกาสผ่านอาจจะมีน้อย มีน้องๆหลายคนมาปรึกษาว่าใช้ได้มั้ย เคยบอกไปให้ลองยื่นดู แต่ไม่เคยมีใครแจ้งผลกลับมาเลย และไม่มีใครใช้ยื่นเพียวๆ สาเหตุที่โอกาสผ่านมีน้อย ก็คือเรื่องของความคุ้มครอง วงเงินค่ารักษาที่กรมธรรม์เหล่านี้กำหนด มีวงเงินที่ไม่มาก เมื่อเทียบกับค่าครองชีพ และค่ารักษาพยาบาลของเมืองนอก โดยส่วนใหญ่แล้วเมืองนอกฯ อย่างออสเตรเลียจะกำหนดไว้ขั้นต่ำต้องมีค่ารักษาพยาบาล ในวงเงิน 1,000,000-1,500,000 บาท (ลองเปรียบเทียบประกันสุขภาพที่มีอยู่ว่า cover มั้ย) หรืออย่างจะขอวีซ่ายุโรป บางประเทศอย่างสวิตซ์,เยอรมัน กำหนดไว้เลยว่าขั้นต่ำ 2,000,000 บาท ถ้าไม่ถึงขอวีซ่าไม่ผ่าน

ในขณะที่ประกันเดินทางจะตอบโจทย์การขอวีซ่าได้ดีกว่า เพราะวงเงินความคุ้มครองให้มากกว่า และเป็นตามที่สถานทูตต้องการ ซึ่งประกันเดินทางนี้ เบี้ยประกันจะไม่แพง และวงเงินความคุ้มครองจะมากกว่า อีกทั้ง ไม่ว่าจะเป็นรักษาแบบผู้ป่วยนอก opd หรือผู้ป่วยใน ipd ก็สามารถเบิกค่ารักษาได้หมด และไม่ต้องตรวจสุขภาพเพื่อทำประกัน แต่ประกันลักษณะนี้ก็มีข้อจำกัดในเรื่องของระยะเวลาคุ้มครองสูงสุด ไม่เกิน 180 วัน ต่อเที่ยวการเดินทาง (เป็นข้อกำหนดของกรมการประกันภัย) และจะมีข้อยกเว้นมากกว่าประกันสุขภาพทั่วไป โดยเงื่อนไขใหญ่ๆ จะไม่คุ้มครองโรคที่เป็นมาก่อนและโรคประจำตัว โรคร้ายแรง (ทั้งนี้จะไปอธิบายรายละเอียดอีกครั้งค่ะ) สาเหตุที่เบี้ยประกันของแบบนี้ถูกกว่าและความคุ้มครองมากกว่า เพราะเป็นสัญญาที่คุ้มครองในระยะสั้น โดยทั่วไปเป็นการประกันเรื่องสุขภาพในด้านเจ็บป่วยทั่วไป และอุบัติเหตุทั่วไป ในขณะที่ประกันชีวิตประกันสุขภาพที่เรารู้จักนั้นจะคุ้มครองใน scope ที่กว้างกว่า เพราะเป็นสัญญาระยะยาว จึงต้องมีการตรวจสุขภาพก่อนทำประกัน (ยิ่งอ่านยิ่งงงกันรึป่าวคะเนี่ย)

ดังนั้นถ้าต้องการตอบโจทย์เรื่องทำประกันเพื่อขอวีซ่า ต้องใช้เป็นประกันเดินทาง จึงจะครอบคลุมกว่า และขอวีซ่าได้แน่นอนกว่า

ปัญหาต่อไปที่พบบ่อยคือเรื่องเงื่อนไข 1 ปี ทุกๆคนจะประสบปัญหาเรื่องการจะทำประกันเดินทางให้ cover 1 ปีนั้นหาไม่ได้ อย่างที่บอกว่า ถูกกรมฯ กำหนดทุกบริษัทฯ จะมีเงื่อนไขคุ้มครองสูงสุด 180 วัน ไม่สามารถคุ้มครองถึง 1 ปีได้ ยกเว้น การทำประกันสำหรับนักเรียนที่ไปเรียนต่อต่างประเทศ จะเป็นอีกตัวหนึ่งที่ยกเว้น ซึ่งเราไม่สามารถทำประกันตัวนั้นได้ เพราะจะต้องมีเอกสารประกอบจากสถาบันการเรียน มาประกอบว่าไปศึกษานานเท่าไร

แล้วจะทำไงล่ะทีนี้?????

เนื่องจากประกันเดินทางเดี๋ยวนี้ แทบทุกบริษัทออกมา 2 แบบ คือแบบประกันเดินทางรายเที่ยว และประกันเดินทางรายปี

โดยประกันเดินทางรายเที่ยว จะเป็นการทำประกันต่อเที่ยวการเดินทาง โดยระบุวันที่จะเดินทางไป จนถึงวันกลับ โดยระยะเวลาคุ้มครอง เราสามารถเลือกได้ว่าจะทำให้คุ้มครองกี่วัน สามารถทำได้ตั้งแต่ 1 วัน จนถึงสูงสุด 180 วัน แล้วก็จะมีแผนความคุ้มครองให้เลือกว่าต้องการความคุ้มครองมากแค่ไหน หรือกว้างแค่ไหน โดยจุดสำคัญของการทำประกันรายเที่ยวนั้น จะต้องระบุวันที่ออกเดินทางแน่นอน ตั้งแต่ตอนทำประกัน เพราะถ้าเดินทางไม่ตรงกับวันที่จะมีผลให้กรมธรรม์ไม่มีผลบังคับไปในทันที เราสามารถแจ้งเปลี่ยนหรือเลื่อนได้ แต่ต้องทำก่อนวันที่ในกรมธรรม์จะเริ่มคุ้มครอง โดยอาจเสียค่าใช้จ่ายตามแต่บริษัทแต่ละบริษัทฯจะกำหนดเงื่อนไข และประกันเดินทางรายเที่ยวนี้จะสิ้นผลทันทีหากเรากลับมาประเทศไทยก่อนกำหนด เพราะประกันรายเที่ยวนี้กำหนดไว้ว่า สิ้นผลบังคับ ณ วันที่กลับมาถึงประเทศไทยหรือ วันที่ในกรมธรรม์กำหนด ขึ้นอยู่กับว่าวันใดถึงก่อนกัน

ส่วนประกันเดินทางรายปีนั้น จะเป็นประกันเดินทางที่ออกรูปแบบมาได้ยืดหยุ่นกว่า โดยแท้จริงเน้นคนที่เดินทางบ่อยๆ ในปีๆ หนึ่งอาจจะเดินทางหลายๆ รอบ ไม่ต้องระบุประเทศ คุ้มครองทั่วโลก ยกเว้น บางประเทศที่แต่ละบริษัทฯ จะกำหนดข้อยกเว้นได้ต่างๆกัน โดยหน้าตารางกรมธรรม์จะโชว์ความคุ้มครองว่า 1 ปี หรือ 365 วัน แต่จะมี remark หรือเงื่อนไขในรูปเล่มว่า จะคุ้มครองต่อเที่ยวการเดินทาง 60,90 หรือ 120 วัน (คำว่าเที่ยวการเดินทางนั้น นับออกจากประเทศไทยแล้วกลับเข้าประเทศไทยเท่านั้น ไม่นับการเข้าออกประเทศอื่น)ข้อกำหนดระยะเวลาคุ้มครองต่อเที่ยวแล้วแต่ แต่ละบริษัทฯ จะกำหนด (ตอนนี้ chartis หรือ (AIG เดิม) ให้ความคุ้มครองสูงสุดคือเที่ยวละ 120 วัน ในขณะที่บูพาคุ้มครองต่อเที่ยวสูงสุด 90 วัน และ msig ให้ความคุ้มครองสูงสุด 60 วัน) แต่ความคุ้มครองจริงๆ จะเกิดขึ้นเมื่อเราออกเดินทางไปต่างประเทศเท่านั้น โดยเราจะออกเดินทางวันไหนก็ได้ ขอให้เป็นหลังวันที่ ที่ระบุในกรมธรรม์เป็นสำคัญ เช่นระบุในกรมธรรม์ว่าเริ่มคุ้มครอง 1 ก.ค. เราจะเดินทางวันที่ 1 หรือ 2 หรือ 15 ก.ค. หรือวันไหนหลังจากนั้นก็ได้ (แต่ห้ามเดินทางก่อนเป็นอันขาด เพราะถือว่ากรมธรรม์ยังไม่มีผลบังคับ) โดยความคุ้มครองจะเริ่มนับจากวันที่เราออกจากประเทศไทยวันแรก เป็นวันที่ 1 และคุ้มครองไปเรื่อยจนกว่าจะครบ 60,90 หรือ 120 วัน ตามแต่ละบริษัทฯ กำหนด หรืออาจจะมีการกลับมาประเทศไทยก่อน ซึ่งถ้าเรามีการกลับมาประเทศไทยอีกครั้ง และวันที่คุ้มครองในกรมธรรม์ยังไม่หมด ถ้าเราออกเดินทางใหม่ ความคุ้มครองก็จะเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ให้ไปเรื่อยๆ จนกว่ากรมธรรม์จะสิ้นสุด ตัวอย่างดังนี้

ในกรณีที่เรา เริ่มทำประกันให้คุ้มครอง 1มิ.ย.53-31 พ.ค.2554

เราเริ่มออกเดินทาง วันที่ 5มิ.ย.53 (เริ่มนับเป็นวันที่ 1) และอยู่ไปจนกระทั่ง 30 ก.ย.53 (118 วัน) มีการกลับมาเมืองไทยใหม่

อยู่เมืองไทยซัก 2 อาทิตย์ ไปใหม่ 16 ต.ค.53 ออกเดินทาง จนกระทั่ง กลับมาเมืองไทย 31 มี.ค.54 (167 วัน) กรมธรรม์จะสิ้นผลบังคับตั้งแต่ 13 ก.พ.54 (เป็นวันที่ 121) พอกลับมาเมืองไทยซัก 2 อาทิตย์แล้วไปต่อ 16 เม.ย.54 กรมธรรม์ก็เริ่มคุ้มครองให้ใหม่ แต่จะไปสิ้นสุดในวันที่ 31 พ.ค.54 (46วัน) เพราะกรมธรรม์สิ้นผลบังคับค่ะ

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการทำประกันเดินทางรายปีจะค่อนข้างยืดหยุ่นกว่า ทั้งนี้ก็ต้องให้น้องๆ ตัดสินใจเลือกแบบกันอีกที เพราะเงื่อนไขของแต่ละคนต่างๆกันค่ะ

จะเห็นได้ว่าไม่ว่าจะเลือกทำตัวไหนก็ไม่สามารถตอบโจทย์คุ้มครอง 1 ปีเต็มจริงๆ ได้ !!!อย่าได้ทำกรมธรรม์ 180 รายเที่ยว 2 กรมธรรม์ต่อกันโดยเด็ดขาด!!! เพราะกรมธรรม์ตัวหลังจะไม่คุ้มครอง เพราะตอนนี้ทุกบริษัทฯ ได้ตั้งเงื่อนไขว่าจะต้องทำประกันเดินทางตัวนี้ก่อนออกเดินทางจากประเทศไทยเท่านั้น ถึงแม้ว่าเราจะทำก่อนออกจากประเทศไทยจริง แต่กรมธรรม์ตัวหลังนั้น มันเริ่มคุ้มครองหลังจากที่เราอยู่ต่างประเทศแล้ว มันจึงไม่มีผลบังคับ (ต้องบอกก่อน ว่าสมัยก่อนเคยทำได้ เพราะบูพาเคยยืดหยุ่นให้ทำได้ ในกรณีที่อยู่ต่างประเทศแล้ว แต่เดี๋ยวนี้เขาเปลี่ยนนโยบาย จึงไม่สามารถทำได้ น้องรุ่นก่อนๆ จึงสบายไป แต่น้องรุ่นหลังๆ ยังคงต้องไปหาซื้อประกันของที่โน่นใช้ต่อ)

มาถึงเรื่องการเคลมค่ารักษาพยาบาลกันดีกว่า

โดยทั่วไปแล้วทุกบริษัทฯ การเคลมจะไม่ต่างกัน คือทุกๆคนจะต้องสำรองจ่ายไปแล้วส่งใบเสร็จตัวจริงและใบรับรองแพทย์กลับมาเบิกที่เมืองไทย เอกสารอื่นๆที่สำคัญคือสำเนาหน้า passport ที่มีรายละเอียดและรูปหน้าตัวเรา และวันที่ stamp เข้าออกประเทศไทย เพื่อเป็นการยืนยันการเดินทางในช่วงที่ทำประกันอย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังมีแบบฟอร์มเคลมของแต่ละบริษัทฯ ซึ่งเราจะต้องกรอกข้อมูล หรือให้แพทย์กรอก ในกรณีที่ไม่ได้พกให้แพทย์กรอก ก็คือขอใบรับรองแพทย์ที่มีการเขียนรายละเอียดเกี่ยวกับการรักษาไว้ชัดเจนมาแทนได้ค่ะ

เรื่องการส่งเอกสารกลับมาเคลมที่เมืองไทย ให้ตรวจสอบและเช็คของแต่ละบริษัทฯ ให้ดี เพราะมีเงื่อนไขระยะเวลาในการเคลมด้วยค่ะ ถ้าไม่เรียกร้องสิทธิภายในกำหนดระยะเวลาอาจมีปัญหาเบิกเคลมไม่ได้

ทั้งนี้ไม่แน่ใจว่าตอบได้ครอบคลุมข้อสงสัยของหลายๆคนหรือยัง เพราะเท่าที่ประมวลดู น้องๆส่วนใหญ่จะสอบถามกันในหัวข้อพวกนี้เป็นอย่างมาก ถ้าสงสัยใดๆ ก็ปรึกษาได้ค่ะ


04 No.
Anchalee 01 No.
มีประโยชน์มากเลยค่ะคุณเกมส์
reply    report
Sasimat 02 No.
พี่เกมส์ เอื้อยถามนี้ดนึงว่า ถ้าเอื้อยจะซื้อประกัน เอือ้ยยังติดต่อที่ thaiwahclub@gmail.com เพื่อสอบถามเรื่องนี้ได้ใช่ไหมคะ ขอบคุณค้า
reply    report
Game Busaracumwong 03 No.
ยังติดต่อได้เรี่อยๆครับ ปล.บางทีถามไว้ในนี้แล้วมันไม่มีเมลล์เด้งมาเตือนผมก็หาไม่เจอครับ ไม่รุ้ตอบช้าไปมั้ยแล้ว TvT
reply    report

Social Network


 
Advertrising