ข่าวสาร >
2014
August
27
ร้านค้าสะดวกซื้อในซิดนีย์ถูกวิพากษ์วิจารณ์ฐานไม่ยอมติดป้ายราคา
โดย : Adminstrator ( จำนวนผู้เข้าชม 3270 คน )

Paying the price of convenience: City Convenience stores have been criticised for their pricing. Photo: Jane Dyson

เขตศูนย์กลางธุรกิจของซิดนีย์กำลังถูกยึดครองโดยร้านค้าสะดวกซื้อที่คิดราคาสินค้าพื้นฐานบางชนิดแพงกว่าราคาทั่วไปถึง 3 เท่าแต่กลับไม่ยอมแสดงราคาสินค้าบนชั้นวางอยู่บ่อยครั้ง


Pricey: A City Convenience store in Sydney Photo: Tamara Voninski

ผู้ซื้อที่ไม่ค่อยมีเวลาอาจจะยินดีจ่ายเพื่อซื้อความสะดวก แต่ตัวแทนผู้บริโภครายหนึ่งได้ออกมาเตือนถึงโอกาสที่จะมีการค้ากำไรเกินควรเกิดขึ้นในร้านค้าเหล่านี้ซึ่งไม่ยอมแสดงราคาสินค้า เช่นร้าน City Convenience ซึ่งมีประมาณ 50 สาขาในตัวเมือง รวมถึงบน George Street ที่มีอยู่ถึง 8 สาขา
เปรียบเทียบราคาสินค้า 6 อย่างที่ขายดีมาก ได้แก่ โค้ก ชอคโกแลต มันฝรั่งทอด ยาbPanadol น้ำยาล้างปาก และพลาสเตอร์ยา ที่ผู้บริโภคซื้อบน George Street พบว่า

ร้าน City Convenience คิดราคาถึง 42 ดอลล่าร์
ในขณะที่ร้าน 7-Eleven ซึ่งติดป้ายราคาสินค้า คิดราคาเพียง 32 ดอลล่าร์
ร้าน Woolworths คิดราคา 23 ดอลล่าร์ และนั่นเป็นราคาก่อนลดเสียด้วย

สินค้าหมวดสุขภาพและทำความสะอาดร่างกายมีราคาแพงเป็นพิเศษในร้าน City Convenience กล่องยา Panadol 1 กล่องบรรจุ 20 เม็ด ราคาสูงกว่าราคาปกติถึง 3 เท่า แต่อาหารจังค์ฟู้ดมีราคาถูกกว่า 7-Eleven นิดหน่อย

เฮเลน ครอสซิ่ง ซึ่งอาศัยอยู่ที่พอตส์พอยต์และเดินมาทำงานที่ออฟฟิศบนถนนยอร์คทุกวัน ได้กล่าวว่าราคาขายในร้านค้าสะดวกซื้อนั้น “ไร้สาระ” และ “ฟั่นเฟือน”  เธออยากให้การขยายตัวของร้านค้าเหล่านี้สิ้นสุดลง “เราได้เห็นธุรกิจที่ทำกันเองในครอบครัวล้มหายตายจากไป และก็ได้เห็นว่ามีอะไรเข้ามาแทนที่ธุรกิจพวกนั้น ซึ่งมันขึ้นมามากเกินไปแล้ว” คุณครอสซิ่งซึ่งเป็นผู้จัดประชุมกลุ่มผู้พักอาศัยกลุ่มหนึ่งกล่าว “ร้านค้าเหล่านี้ทำให้สิ่งแวดล้อมเสื่อมลง และแทบจะไม่ได้เพิ่มคุณค่าใดๆให้กับชุมชนเลย”

มุสตาฟา อาห์มาด ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจของร้าน City Convenience เน้นว่าการไม่แสดงราคาสินค้าไม่ใช่แนวทางแบบ top-down และร้านค้าส่วนใหญ่กว่า 180 ร้านก็มีปัจเจกบุคคลเป็นเจ้าของ

“ร้านที่ไม่ติดราคาคือผู้ค้าที่ผันตัวมาทำร้านค้าสะดวกซื้อ ร้านพวกนี้จึงไม่เป็นระบบเท่าร้านที่เปิดใหม่ แล้วก็เอาแบรนด์บริษัทเราไปใช้เพื่อให้ได้ราคาถูกกว่า”
เป้าหมายสูงสุดคือการแสดงราคาสินค้าทุกชนิดที่วางขาย อาห์มาดกล่าว

“เราพยายามอย่างสุดความสามารถที่จะทำเรื่องนี้ให้สำเร็จ สุดท้ายแล้ว เราก็เป็นคนค้าขายที่ต้องทำให้ลูกค้ามีความสุข
หากลูกค้าคนใดประสบปัญหา ก็สามารถติดต่อเราได้ เราจะช่วยเหลือและทำให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่น่าพึงพอใจ ”

คริสโตเฟอร์ ซินน์ ตัวแทนผู้บริโภค กล่าวว่าการไม่แสดงราคานั้นบอกเป็นนัยได้ว่าร้านค้าเปิดให้มีการเปลี่ยนแปลงราคาได้

“บางทีร้านเหล่านี้อาจใช้กลยุทธ์เปลี่ยนราคา คือหากคุณดูเป็นคนเมาหรือดูรวยหรือดูไม่สนใจอะไร ร้านก็อาจอัพราคาขึ้น” เขาแจง “ตอนสักตีสามหรือตีสี่ ราคาอาจจะแพงกว่าตอนบ่ายสองหรือบ่ายสาม ซึ่งเป็นช่วงที่มีการแข่งขันสูงกว่า”

หน่วยงาน The Australian Competition and Consumer Commission ของออสเตรเลียกล่าวว่าร้านค้าสามารถไม่ติดราคาได้โดยถูกกฎหมาย ตราบเท่าที่มีการพูดอธิบายราคาให้ลูกค้ารับทราบอย่างไม่ผิดเพี้ยน

“หากผู้บริโภคไม่พึงพอใจ ก็ไม่จำเป็นต้องไปจับจ่ายที่ร้านนั้นๆ อีก” โฆษกหน่วยงานกล่าว “ตอนนั้นเองที่แรงกดดันทางการแข่งขันจะเข้ามามีบทบาท หากร้านค้าไม่น่าพอใจ คนก็จะไม่เข้าร้าน”

แต่เจฟฟ์ โรกัท ผู้บริหารระดับสูงของสมาคมร้านค้าสะดวกซื้อของออสเตรเลีย ได้วิพากษ์ร้าน City Convenience ซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกของสมาคม ฐานที่ไม่ยอมติดราคา

“ไม่มีเหตุอันควรเลยที่ร้านควรจะทำแบบนี้ นอกจากระบบอันหละหลวมกับการจัดการที่หย่อนยาน” เขากล่าว “หากคุณเห็นราคาก่อน คุณก็รู้ได้ว่าจะไม่ถูกคิดเงินเกินจริงตอนไปจ่าย”

เขากล่าวด้วยว่า ตนไม่เคยเผชิญพฤติกรรมการขายเช่นนี้จากร้านค้าของสมาคมกว่า 5,500 ร้าน รวมถึง 7-Eleven ร้าน Caltex’s Star Mart ร้าน BP และร้านค้าอิสระอื่นๆ

ตัวเลขล่าสุดจาก IBISWorld แสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมร้านค้าสะดวกซื้อทำเงินรายได้ถึง 4.4 พันล้านดอลล่าร์ในปีงบประมาณที่ผ่านมา แต่การแข่งขันที่ยากลำบากและความพึงพอใจของผู้บริโภคที่ลดลงจะทำให้ได้เห็นยอดขายลดต่ำลง 3.6 ต่อปีในระยะเวลาครึ่งทศวรรษหน้า
 


ภาพและข้อมูลจาก www.smh.com.au/nsw

Translated by Supriya l Secretary & Translator l Beyond Study Center
Updated by Vnuch l Online Marketing & Graphic Designer l Beyond Study Center l August 2014