ข่าวสาร >
2020
July
1
เทคนิค 5 ข้อช่วยเตรียมตัวให้พร้อมกับการสัมภาษณ์งานในออสเตรเลีย
โดย : Adminstrator ( จำนวนผู้เข้าชม 7142 คน )

    ออสเตรเลียเป็นประเทศที่เปิดโอกาสด้านการทำงานให้กับชาวต่างชาติพอสมควร แต่อย่างไรก็ดีเราควรจะรู้เทคนิคการสัมภาษณ์งานเพื่อช่วยเพิ่มโอกาสในการได้งานมากขึ้น

    ในแต่ละประเทศก็มีจะมีวัฒนธรรมของตัวเองที่แตกต่างกันไป รวมถึงวัฒนธรรมในการที่ทำงานด้วย ซึ่งส่งผลไปยังการสัมภาษณ์งานที่ผู้สัมภาษณ์มักจะดูบุคลิกและทัศนคติที่สามารถไปกันได้กับบริษัทนั้นๆ

    ออสเตรเลียเองก็มีวัฒนธรรมการทำงานเป็นของตัวเองเช่นกัน ดังนั้นการที่เรารู้ความแตกต่างทางวัฒนธรรมนี้และสามารถปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมหรือองค์กรนั้นๆ ได้ก็จะเป็นแต้มต่อให้เราผ่านสัมภาษณ์มากยิ่งขึ้น


    เทคนิคที่ 1 : สบตากับคู่สนทนา มี eye contact เข้าไว้

    ในบางวัฒนธรรมการสบตากับผู้อื่นตรงๆ ทั้งที่ไม่ได้รู้จักกันมาก่อนถือว่าค่อนข้างเสียมารยาท แต่สำหรับวัฒนธรรมในออสเตรเลียแล้วนั้น การสบตาคู่สนทนาช่วยแสดงถึงความมั่นใจ ความน่าเชื่อถือ และให้ความสนใจกับคู่สนทนา

    คนไทยอาจจะประหม่ากับการต้องสบตาคนที่เพิ่งเจอกันตรงๆ โดยเฉพาะในการสัมภาษณ์งานที่มีความวิตกกังวลเพิ่มขึ้น แต่การสบตาระหว่างการสัมภาษณ์งานก็ยังมีความสำคัญอยู่ดี เพราะฉะนั้นควรสบตากับผู้ที่กำลังสัมภาษณ์เสมออย่างน้อยควรนานประมาณ 4 วินาทีต่อครั้ง แต่อย่าลืมกระพริบตาด้วยนะ ถ้าจ้องเขม็งเลยอาจจะเปลี่ยนจากน่าสนใจเป็นน่ากลัวแทน


    เทคนิคที่ 2 : ทักทายด้วยการจับมือ

    คนไทยรวมถึงคนเอเชียอีกหลายๆ ประเทศ อาจไม่คุ้นเคยกับการทักทายแบบจับมือหรือ handshakes หรือถ้าบางครั้งต้องจับมือทักทายจริงๆ ก็จะจับเบาๆ ตามความอาวุโสของผู้ที่จับมือด้วย พร้อมกับโค้งคำนับไปด้วย ซึ่งนั่นจะแตกต่างกับวัฒนธรรมของชาวออสซี่เลย

    ไม่ว่าจะในสถานการณ์ทั่วไปหรือในการสัมภาษณ์งาน เราสามารถขอยื่นมือเข้าไปทักทายก่อนได้เลยโดยไม่ต้องรอให้เขายื่นมือมาหาเราก่อน และสามารถจับมือแบบกระชับๆ ไม่ต้องจับหลวมๆ ถ่อมตนเพราะความอาวุโสกว่าของคู่สนทนา และเช็คแฮนด์แบบมือเดียวได้เลยนะ ไม่จำเป็นต้องเอามืออีกข้างมาประคองเพิ่ม และไม่จำเป็นต้องก้มตัวทักทายระหว่างจับมือด้วย

    ในกรณีที่คุณเป็นคนมุสลิมและไม่สะดวกในการจับมือกับเพศตรงข้าม ให้แจ้งกับนายจ้างทางอีเมลหรือโทรศัพท์ก่อนว่าขอทักทายตามวัฒนธรรมของตนเอง ซึ่งออสเตรเลียสนับสนุนความแตกต่างทางวัฒนธรรมและมีกฎหมายรองรับเรื่องการเลือกปฏิบัติอยู่แล้ว เรื่องนี้จึงไม่เป็นปัญหากับการทำงานในออสเตรเลีย


    เทคนิคที่ 3 : มีความมั่นใจเข้าไว้

    ในบางวัฒนธรรมการมีความมั่นใจในตัวเองสูงอาจจะถูกมองว่าเป็นคนที่ก้าวร้าวเกินไป แต่สำหรับออสเตรเลียแล้วความมั่นใจในตัวเองไม่ได้หมายถึงความยโสโอหังอะไรแบบนั้นเสมอไป ซึ่งเราสามารถแสดงความมั่นใจออกมาผ่านการพูดอย่างชัดถ้อยชัดคำ มีความสงบเสงี่ยม และไม่เขินอายเมื่อต้องพูดถึงสิ่งที่คุณเคยประสบความสำเร็จมา

    พยายามหลีกเลี่ยงคำตอบประเภท “อืม” หรือ “อ่า” และมั่นใจในคำตอบของตัวเองเข้าไว้ แต่ถ้าต้องการเวลาสำหรับคิดคำตอบจริงๆ สามารถบอกกับผู้ให้สัมภาษณ์ก่อนได้ว่าเราขอเวลาคิดนิดนึงนะ สิ่งที่สำคัญคือไม่ควรลนหรือกระสับกระส่ายไปมา หรือมองพื้นแทนที่จะมองผู้ให้สัมภาษณ์เวลาตอบคำถาม

    ความมั่นใจจะสำคัญยิ่งขึ้นสำหรับเด็กจบใหม่ที่ยังไม่มีประสบการณ์มากนัก เนื่องจากนายจ้างหรือผู้สัมภาษณ์งานสามารถมองเห็นทั้งความสามารถและความพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับความท้าทายในการทำงานจากจุดนี้ได้ ซึ่งความมั่นใจที่ดีควรทำไปพร้อมๆ กับ eye contact และ handshakes ที่เหมาะสมตามที่กล่าวไปก่อนหน้า


    เทคนิคที่ 4 : ใช้สูตร STAR

    สูตร STAR เป็นหลักในการตอบคำถามซึ่งส่วนใหญ่มักใช้กับตำแหน่งงานในรัฐบาล แต่การสัมภาษณ์งานทั่วไปก็สามารถนำสูตรนี้มาใช้ได้เช่นกัน

    สูตรการตอบคำถามแบบ STAR สามารถนำมาปรับใช้ได้กับคำถามหลากหลายประเภท ซึ่งสูตรนี้จะช่วยเน้นความสำเร็จและบทเรียนที่คุณได้รับ ไม่ใช่เป็นการบอกเล่าหน้าที่ความรับผิดชอบทั่วไปที่ต้องทำในทุกวัน

    STAR มาจากคำว่า Situation, Task, Action และ Result โดยแต่ละคำมีความหมาย ดังนี้

  • Situation : บอกเล่าสถานการณ์ที่เกี่ยวกับคำถามนั้นๆ อาจจะเป็นเรื่องปัญหาในที่ทำงาน หรือความท้าทายในการทำงานที่คุณเผชิญก็ได้
  • Task : จากสถานการณ์ตอนนั้นคุณมีหน้าที่ความรับผิดชอบอย่างไร และคาดหวังผลลัพธ์อย่างไรจากสถานการณ์นั้น
  • Action : คุณทำอย่างไรหรือจัดการกับสถานการณ์นั้นๆ อย่างไร
  • Result : ผลลัพธ์จากการกระทำของคุณเป็นอย่างไร ถ้าผลลัพธ์ออกมาดีให้อธิบายว่าเกิดจากอะไรหรือใครเป็นผู้สนับสนุนที่ช่วยทำให้สำเร็จบ้าง แต่ถ้าผลลัพธ์ออกมาไม่ดีแล้วคุณได้เรียนรู้อะไรกับความผิดพลาดนั้นและจะทำอย่างไรให้ผลลัพธ์ออกมาไม่เหมือนเดิม

 

    เทคนิคที่ 5 : เราควรเป็นผู้ถามด้วย

    การสัมภาษณ์งานไม่ได้เป็นเพียงการที่เราต้องมานั่งตอบคำถามเกี่ยวกับตัวเอง หรืออธิบายว่าเราสามารถทำอะไรให้กับองค์กรได้บ้างเพียงเท่านั้น แต่ยังถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะช่วยให้เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับบริษัทที่เราจะต้องทำงานด้วยมากที่สุด

    ส่วนใหญ่คนที่สัมภาษณ์มักจะให้โอกาสในการถามคำถามหลังจากการสัมภาษณ์ ดังนั้นเราควรเตรียมคำถามไปเผื่อสัก 2-3 คำถาม เพื่อให้เราได้รู้เกี่ยวกับการทำงานและวัฒนธรรมขององค์กรมากขึ้น

    ตัวอย่างคำถาม เช่น ความท้าทายหลักๆ ที่เราจะต้องเจอจากการทำงานในตำแหน่งนี้มีอะไรบ้าง, องค์กรคาดหวังพัฒนาการทางด้านวิชาชีพจากคุณมากแค่ไหนในฐานะพนักงานใหม่, คุณจะได้ร่วมงานกับใครมากที่สุดในองค์กรนี้ หรือพนักงานในองค์กรมีความสุขกับอะไรมากที่สุดจากการทำงานที่นี่ เป็นต้น

    อย่ากังวลว่าคำถามพวกนี้มันจะหนักไปไหม ถามไปแล้วจะดีรึเปล่า เพราะการถามคำถามจะช่วยทำให้คุณดูเป็นคนที่มองการณ์ไกลและมีความสนใจที่จะทำงานกับองค์กรนี้จริงๆ

    คำถามสุดท้ายควรเน้นไปที่เรซูเม่หรือใบสมัครที่คุณส่งไป ว่าทำไมพวกเขาถึงเลือกพิจารณาเรซูเม่หรือใบสมัครของคุณให้มาสัมภาษณ์งานสำหรับตำแหน่งนี้ ซึ่งถือเป็นโอกาสดีที่ช่วยให้คุณรู้ถึงจุดเด่นของตัวเองและรู้ว่าคุณควรปรับปรุงอะไรเพิ่ม



Source : Insider Guides