ข่าวสาร >
2019
April
11
แชร์ประสบการณ์เรียนโท “ดนตรีบำบัด” พร้อมการทำงานเป็นครูสอนดนตรีที่เมลเบิร์น โดย คุณอุ๊ดจัง ตวงพร
โดย : Adminstrator ( จำนวนผู้เข้าชม 13399 คน )

     แชร์ประสบการณ์เรียนโทที่มหาวิทยาลัยระดับท็อป The University of Melbourne กับสาขา “Master of Music Therapy” โดยคุณอุ๊ดจัง ตวงพร ภูวจรูญกุล

     Master of Music Therapy จาก Faculty of Fines Art and Music (VCA&MCM), The University of Melbourne เป็นคอร์สเรียนปริญญาโทที่ไม่ได้เพียงแค่สอนการเล่นดนตรี แต่สอนถึงหลักจิตวิทยาในการใช้ดนตรีเพื่อบำบัด ด้วยหลักสูตรการสอนที่เน้นปฏิบัติจริง นักเรียนจะได้ไปฝึกงานตามสถานที่จริง เช่น โรงพยาบาล หรือศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ เป็นต้น

     ในบทความนี้คุณอุ๊ดจังจะมาเล่าประสบการณ์ถึงการไปเรียน Music Therapy ที่เมลเบิร์น พร้อมประสบการณ์การทำงานเป็นครูสอนดนตรี ว่าคุณอุ๊ดจังมีวิธีการหางานยังไง หรือวิธีการจัดการเวลาในการเรียน การทำงาน และเวลาส่วนตัว

 

     Thai WAH Club : แนะนำตัวหน่อยค่ะคุณอุ๊ดจัง :-)

     สวัสดีค่ะ ชื่ออุ๊ดจัง ตวงพร ภูวจรูญกุลค่ะ มาจากกรุงเทพฯ ก่อนจะมาออสเตรเลียเป็นครูสอนเปียโนอิสระอยู่ 2 ปี มีสอนทั้งที่โรงเรียนสอนดนตรี และตามบ้านนักเรียนค่ะ

 

     Thai WAH Club : เล่าย้อนกลับไปนิดนึงก่อนมาเรียนที่ออสเตรเลีย เคยเรียนที่ไหนมาก่อนคะ

     ตอนปริญญาตรีเรียนที่คณะดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล สาขาดนตรีแจ๊ส เครื่องดนตรีเอก เป็นเปียโนค่ะ

 

     Thai WAH Club : แล้วตอนนี้คุณอุ๊ดเรียนที่ไหน คณะสาขาอะไรเหรอคะ

     ตอนนี้เรียนอยู่ ปี 2 สาขา Master of Music Therapy, Faculty of Fines Art and Music (VCA&MCM), University of Melbourne ค่ะ

 

     Thai WAH Club : ก็ถือว่าสาขาที่เรียนใกล้เคียงกับตอนเรียนที่ไทยเลย คิดว่าหลังจากเรียนจบแล้วสามารถนำความรู้ตรงนี้ไปต่อยอดอะไรได้บ้างคะ

     จริงๆ โดยส่วนตัวคิดว่าสาขาที่เรียนตอน ป.โท นั้นต่างกับตอนเรียน ป.ตรี มากๆ ถึงแม้จะมีคำว่า ดนตรีเหมือนกัน แต่เป้าหมายและหลักการในการเรียนไม่เหมือนกันอย่างสิ้นเชิง 

     ตอนเรียน ป.ตรี เป็นการเรียนที่เน้น Performing เหมือนกับฝึกให้ตัวเราเป็นนักดนตรีอาชีพ เน้นที่พัฒนาความสามารถในการเล่นเครื่องดนตรีเอก การเล่นรวมวงกับคนอื่นหรือการแต่งเพลง 

     แต่การเรียนดนตรีบำบัดนั้นไม่ได้เน้นพัฒนาไปที่ความสามารถในการเล่นดนตรี แต่เป็นความรู้ความเข้าใจและพื้นฐานของการเป็นนักดนตรีบำบัดที่ใช้ดนตรีเป็นสื่อกลางในการ communicate และ connect กับคนไข้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับวิชาทางจิตวิทยาด้วย 

     ทุกวันนี้ที่เรียนอยู่แทบจะไม่รู้สึกเลยว่าเรียน ป.โท อยู่ เพราะว่าทั้งเนื้อหาและวิชาของดนตรีบำบัดนั้นไม่เหมือนกับวิชาใน ป.ตรี ที่ผ่านมาเลย เลยรู้สึกว่าเหมือนมาเรียนอะไรที่ใหม่จากเดิมมากๆ เหมือนยังไม่เคยได้รู้สิ่งนี้มาก่อน เลยรู้สึกเหมือนเรียน ป.ตรีอีกครั้ง

     ส่วนเรื่องต่อยอดสำหรับตัวอุ๊ดจังเอง คิดว่าการตัดสินใจมาเรียนดนตรีบำบัดใน ป.โท เป็นการต่อยอดสิ่งที่เรามีจากตอน ป.ตรี แล้ว คือตอน ป.ตรี เรียนรู้ที่จะเล่นดนตรี พอมาป.โท คือมาเรียนรู้ที่จะใช้ดนตรี (ที่เราเล่นได้) ในรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่ในฐานะ musician แต่เป็น music therapist  

     ถ้าถามว่าจากจุดนี้จะต่อยอดอย่างไร ก็คิดไว้ว่าอยากกลับไปทำงานเป็นนักดนตรีบำบัดที่ประเทศไทย ทำให้คนไทยรู้จักดนตรีบำบัดมากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะแค่คนไข้หรือคนทั่วๆไป แต่รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์เองที่อาจจะยังไม่รู้จักสาขาวิชาชีพนี้อย่างลึกซึ้งเท่าไหร่

 

     Thai WAH Club : คุณอุ๊ดจังเลือกเรียนที่ The University of Melbourne ถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยใน Group of Eight ด้วย การสมัครเข้าเรียนที่นี่ถือว่ายากไหมคะ

     จะบอกว่ายากก็ยาก จะบอกว่าง่ายก็ง่าย ฮ่าๆๆ คือมันมีส่วนที่ง่าย ส่วนที่ยาก และส่วนที่ยากที่สุด บวกกับสาขาที่มาเรียนใช้วิชาเฉพาะตัวค่อนข้างเยอะ requirement ของมหาวิทยาลัยก็เลยเยอะไปด้วย และต้องบอกไว้ก่อนว่าเราใช้เวลาเตรียมตัวค่อนข้างเยอะ

     สำหรับอุ๊ดจังส่วนที่ง่ายคือส่วนที่เกี่ยวข้องกับ music skill เช่น ต้องมีใบสอบเทียบเครื่องดนตรีเอก เกรด 8 จาก AMEB หรือสถาบันอื่นที่เทียบเท่า ซึ่งตัวเราเองก็ไล่สอบแต่ละเกรดมาตั้งแต่เด็กๆ หรือต้องจบ ป.ตรี ในสาขาดนตรีหรือที่เกี่ยวข้อง (เช่น พยาบาล นักจิตวิทยา นักกายภาพบำบัดฯ) requirement พวกนี้เป็นเรื่องที่ง่ายเพราะเป็นเรื่องที่เราได้ทำไปแล้ว

     ส่วนที่ยาก คือ การต้องมีชั่วโมงอาสาสมัคร การอัดวิดิโอเล่นเครื่องดนตรี ซึ่งต้องใช้เวลาฝึกซ้อมด้วย เพราะการเรียนดนตรีบำบัดนั้นเน้นที่การใช้กีต้าร์มากกว่าเครื่องดนตรีอื่น ถึงแม้ว่าจะเล่นเปียโนมานานแต่ก็ต้องฝึกซ้อมเล่นกีต้าร์ที่ตัวเองยังไม่ถนัดด้วยเหมือนกัน และก็มีวิชาจิตวิทยาพื้นฐานที่ตัวเราไม่ได้เรียนในระดับป.ตรี ก็ต้องมาลงเรียน มสธ. เพิ่มเพื่อที่จะให้ครบ requirement ของทางมหาวิทยาลัยค่ะ 

     แต่ !! ส่วนที่ยากที่สุดสำหรับอุ๊ดจังเองเป็นเรื่องภาษาอังกฤษมากกว่าค่ะ สอบ 4 รอบกว่าจะผ่านได้ แต่ตัวเราเองสอบ TOEFL นะคะ ไม่ได้สอบ IELTS เพราะตอนแรกตั้งใจจะไปอเมริกา แล้วก็เริ่มติวเนื้อหาข้อสอบ TOEFL มาตั้งแต่ต้น เลยไม่อยากมาเปลี่ยนแนวข้อสอบอีกที แต่ถึงจุดนี้ผ่านมาได้ก็เพราะตั้งใจมากๆ ที่จะทำให้ผ่าน แล้วก็อยากมาเรียนที่ University of Melbourne มากๆ ค่ะ

 

     Thai WAH Club : แล้วทำไมถึงตัดสินใจเลือกมาเรียนต่อสาขานี้ที่ออสเตรเลียเหรอคะ คิดว่าอะไรเป็นจุดเด่นของที่นี่

     โปรแกรมดนตรีบำบัดของที่ University of Melbourne มีจุดเด่นหลายอย่างค่ะ อย่างแรกเลยใช้เวลาเรียน 2 ปี และได้ฝึกงาน ได้ลองฝึกกับคนไข้จริงๆ ตั้งแต่เทอมที่หนึ่งเลย เรียกว่าเรียนทั้งหมด 4 เทอม ก็ได้ฝึกงานทุกเทอม แต่ละเทอมก็ต่างสถานที่กันไป 

     สองเทอมที่ผ่านมาได้ไปฝึกที่ Specialist School และ Disability Day Care Center ส่วนเทอมนี้ทำอยู่ที่ Neuro Rehabilitation Centre ได้ประสบกาณ์กับความรู้เยอะมากๆ ค่ะ

     จุดเด่นที่สำคัญที่สุด คือ หากเราเรียน Master of Music Therapy ที่ University of Melbourne เมื่อเราจบเราจะสามารถ apply เป็น Registered Music Therapist (RMT) ได้โดยไม่ต้องสอบ เพราะว่า Australian Music Therapy Association (AMTA) ได้รับรองหลักสูตรให้กับทาง University of Melbourne แล้วค่ะ เรียกว่าตั้งใจเรียนให้จบก็ได้ใบประกาศนียบัตรวิชาชีพพร้อมออกไปทำงานได้เลย

 

     Thai WAH Club : ช่วยเล่าถึงการไปฝึกงานกับทางมหาวิทยาลัยตามสถานที่จริงหน่อยค่ะ

     อย่างที่บอกไปตอนแรกว่าสองเทอมที่ผ่านมาได้ไป Specialist School และ Disability Day Care Centre ปัจจุบันนี้เทอมที่ 3 แล้ว ทำอยู่ที่ Neuro Rehabilitation Centre ค่ะ 

     สังเกตได้ว่าเราจะเปลี่ยนสถานที่ฝึกงานทุกๆ เทอม นั่นก็เพื่อที่จะได้ลองใช้ดนตรีบำบัดกับคนไข้กลุ่มต่างๆ ซึ่งเมื่อคนไข้ไม่เหมือนกัน เป้าหมายในการทำบำบัดก็ไม่เหมือนกัน วิธีการและแนวคิดก็ต่างกันออกไปด้วย ดังนั้นทุกครั้งที่เปลี่ยนที่ฝึกงานเราก็เหมือนได้ที่ทำงานใหม่ เรียนเรื่องใหม่ๆ 

     แต่ไม่ได้ไปฝึกคนเดียวโดดๆ เลยนะคะ ทุกสถานที่ที่ไปจะมีนักดนตรีบำบัดอยู่แล้ว อาจารย์ประจำวิชา Clinical Placement จากทางมหาวิทยาลัยก็จะติดต่อนักดนตรีบำบัดที่ทำงานอยู่ในสถานที่ต่างๆ ให้มาเป็น Supervisor ให้กับเรา 

     ดังนั้นเราก็จะได้เรียนรู้จากการสังเกต Supervisor ของเราทำงาน และได้ลงมือทำงานจริงๆ พร้อมมี Supervisor คอยให้คำแนะนำและช่วยเหลืออยู่ตลอด

     เทอมแรกๆ ที่ไปทำที่ Specialist School ก็ยังงงๆอยู่เลยค่ะ แต่ Supervisor ก็ให้คำแนะนำดี ช่วยเหลือและก็คอยผลักดันให้ตัวเราลองทำเองดูบ้าง แต่พอมาเทอมสอง พอ Supervisor เริ่มเห็นว่าทำได้บ้างแล้วก็แทบจะได้ทำงานกับคนไข้เองตลอดทั้งเทอม 

     ไม่ใช่แค่นั่ง Observe หรือช่วย Supervisor ระหว่างชั่วโมงบำบัด แต่ได้นำชั่วโมงบำบัดเอง เล่นดนตรี สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนไข้ ซึ่งเป็นเรื่องที่สนุกมากๆ เหมือนเป็นการเรียนรู้แบบ Learning by Doing 

     ซึ่งสำหรับอุ๊ดจังเองรู้สึกว่าวิธีการเรียนแบบนี้เหมาะกับตัวเอง แอบบอกตรงๆเลยว่าเรียนรู้จากที่ฝึกงานได้มากกว่าเรียนที่มหาวิทยาลัยเยอะมาก เพราะบางทีนั่งในคลาสอาจารย์พูดถึงเรื่องทฤษฎีว่าต้องใช้แบบไหน ตัวเรานึกยังไงก็นึกไม่ออก ฮ่าๆๆ แต่พอได้เห็น Supervisor ทำเราเข้าใจเลย เก็ทภาพ เข้าใจบริบท และวิธีการมากขึ้น สรุปได้ว่าชอบไปฝึกงานมากกว่าไป เรียนที่มหาวิทยาลัยค่ะ ฮ่าๆๆ

 

     Thai WAH Club : ตอนนี้นอกจากเรียนแล้ว ยังทำงานพิเศษสอนเปียโนไปด้วย คุณอุ๊ดมีช่องทางหางานยังไงบ้างคะ แล้วงานที่ทำมีส่วนช่วยกับการเรียนของเรายังไงบ้าง

     ตอนหางานทำทีแรกยอมรับว่าท้อมากกกกก ก.ไก่ สิบตัว คือ ส่ง Resume ไปหลายที่มากๆ แต่ก็ไม่มีที่ไหนตอบกลับมาเลยในช่วง 3 เดือนแรก ช่องทางที่ส่ง Resume ก็คือเข้าไปในเว็บหางานทั่วๆ ไปเลยค่ะ พอเห็นว่าที่ไหนต้องการครูสอนดนตรี ครูสอนเปียโน ที่เราพอจะเดินทางไม่ลำบากมากนักก็ส่ง Resume ไปเลยค่ะ 

     ช่วงแรกก็มีเพื่อนแนะนำคนรู้จักที่ทำธุรกิจสอนดนตรีตามบ้านนักเรียน แต่พอได้ลองไปคุยกับเจ้าของโรงเรียนก็รู้สึกไม่สะดวก เพราะเจ้าของอยากให้เราไปสอนที่บ้านนักเรียนเลย ตัวเราไม่มีรถ เดินทางลำบากหากจะไปหลายๆ บ้านในวันเดียวกัน และที่สำคัญคือค่าตอบแทนไม่คุ้มค่ารถและเวลา เราเลยรองานจากโรงเรียนอื่นเข้ามา เพราะคิดแล้วจริงๆ ว่าทำยังไงก็ไม่คุ้มเลยต้องปฏิเสธไป แต่งานสอนเปียโนที่ทุกวันนี้ทำอยู่ก็เป็นผลจากการส่ง Resume และเจ้าของโรงเรียนติดต่อกลับมานัดสัมภาษณ์แล้วได้งานค่ะ 

     ถ้าถามว่าช่วยเกี่ยวกับการเรียนเราไหมก็คิดว่าช่วยนิดหน่อย เช่น ให้เราได้เจอเด็กมากขึ้น ได้สังเกตพฤติกรรมของเด็กแต่ละคน ได้เอาหลักจิตวิทยาที่ใช้ในดนตรีบำบัดมาปรับใช้กับนักเรียนบ้าง แต่ก็ยังอยู่ในบริบทของการสอนดนตรีอยู่ไม่ใช่การบำบัด แต่ถ้าไม่คิดเยอะขนาดนั้นก็เหมือนกับว่าได้มาฝึกพูด ฝึกฟังภาษาอังกฤษเพิ่มจากการไปมหาวิทยาลัยและฝึกงานค่ะ ฮ่าๆๆ

 

     Thai WAH Club : แบ่งเวลาทั้งเรียนไปด้วย แล้วก็ทำงานไปด้วยยังไงบ้างคะ

     ถ้าถามว่ามาออสเตรเลียเรื่องไหนยากที่สุด เราขอตอบเลยว่าเรื่องนี้ค่ะ ฮ่าๆๆ ยากมากๆ เรียกว่าทุกวันนี้ก็ยังพยายามจะทำให้มันพอดีๆ กันไป 

     อยากจะเพิ่มเข้าไปอีกว่านอกจากจะไปเรียน ทำงาน ฝึกงานแล้ว ยังต้องแบ่งเวลาเพื่อรับผิดชอบตัวเองส่วนอื่นๆ อีก เช่น ทำกับข้าว ซักผ้า ทำความสะอาดห้อง หรือเวลาที่เราจะต้องพักผ่อน ให้เวลากับตัวเองด้วย 

     แต่สำหรับตัวอุ๊ดจังเองชอบความเป็น routine ค่ะ คือพอเรารู้ว่าต้องทำอะไรวันไหน เรากำหนดไว้เลยว่าวันไหนเรียน วันไหนฝึกงาน วันไหนทำงาน ช่วงไหนของสัปดาห์จะต้องทำกับข้าว สัปดาห์ไหนซักผ้า เรียกว่ามีตารางเขียนไว้หมดเลยค่ะ แล้วก็พยายามยึดเวลาที่มีกับตารางไว้ให้ได้ เพราะถ้าเราทำได้ตามตาราง เราก็จะ control เวลาและหน้าที่แต่ละอย่างได้ แต่ขอยอมรับเลยว่า ยากจริงๆ ตัวเองก็พยายามทุกครั้งให้มันเป็นอย่างที่วางแผนไว้ แต่มันไม่ง่ายเลยจริงๆ 

 

     Thai WAH Club : ความต่างทางภาษาถือว่าเป็นอุปสรรคสำหรับการอาศัยอยู่ที่นี่มากไหมคะ

     สำหรับตัวอุ๊ดจังเองคิดว่าไม่ได้เป็นอุปสรรคในการอยู่สักเท่าไหร่ แต่คิดว่าเป็นเรื่องที่ยากในการเรียน เพราะการเรียน ป.โท นั้นเราต้องเขียน Paper และ Assignment เยอะมากๆ เป็นภาษาแบบ Academic อีกทั้งวิชาที่มาเรียนก็ใช้ศัพท์ที่ยาก ศัพท์เฉพาะเข้าไปอีก เลยรู้สึกว่าภาษาเป็นเรื่องที่ยากในการเรียนมากกว่าการใช้ชีวิต 

     แต่ก็แอบรู้สึกว่าช่วง 2-3 เดือนแรกที่มาอยู่ ยังไม่คุ้นกับสำเนียงออสซี่เท่าไหร่ ก็มีช่วงเวลาปรับตัว แล้วก็ให้โอกาสตัวเองทำผิดบ่อยๆ มันก็จะดีขึ้นค่ะ (ง่ายๆคือ ฟังไม่รู้เรื่องแล้วก็ตอบผิด ฮ่าๆๆ)

 

     Thai WAH Club : สังคมการเรียนรวมถึงวิธีการสอนของที่นี่แตกต่างกับที่ไทยยังไงบ้างคะ

     ต่างกันมากกกกค่ะ ที่นี่คือต้องอ่านหนังสือมาก่อนแล้วอาจารย์จะมาอธิบายทีหลัง บางครั้งเรียกว่าถ้าไม่ได้อ่านมาก็จะงงๆ ไปเลยว่ามันคืออะไร กระบวนการเรียนก็เน้นให้ใช้ Critical Thinking แบบการคิดวิเคราะห์ หาเหตุผล 

     วิธีการสอนของอาจารย์ก็จะเป็นแนว Give and Take มากกว่ามายืนสอนอย่างเดียว เช่น หากเรารู้อะไรที่จะเสริมหัวข้อที่อาจารย์กำลังพูดถึงอยู่ก็สามารถพูดได้ โดยอาจารย์ก็รับฟังความคิดเห็นของนักเรียนด้วยเหมือนอาจารย์เองก็พร้อมจะรับมุมอื่นๆ ที่ต่างไปจากความคิดเขาด้วย 

     แต่ส่วนที่ชอบที่สุดในการเรียนของที่นี่คืออาจารย์ทุกท่านกล้าพูดว่า “อันนี้ฉันไม่รู้อ่ะ ขอไปหาคำตอบก่อนนะ เดี๋ยวจะมาบอกอาทิตย์หน้า” มันทำให้เรารู้สึกว่าไม่มีใครทุกคนเก่งหมด รู้หมด ทุกคนต้องพร้อมที่จะขวนขวายหาคำตอบ แม้กระทั่งอาจารย์เราเองที่มีประสบการณ์ทำงานมาแบบ 20 ปี เป็นถึง Professor มีงานวิจัยตีพิมพ์ระดับโลก เขียนหนังสือเป็น 10 เล่ม แต่เขาก็ยังยอมรับว่ามีเรื่องที่เขายังไม่รู้ เพราะเขาไม่เคยทำแต่ก็พร้อมที่จะช่วยนักเรียน โดนการที่จะไปหาคำตอบมาให้แล้วตัวเขาเองก็ได้เรียนรู้ไปพร้อมกับนักเรียนด้วย

 

     Thai WAH Club : ได้ออกไปเที่ยวต่างเมือง หรือมีประสบการณ์อื่นๆ อะไรอีกบ้างคะที่เราได้รับนอกจากการเรียนที่นี่

     สำหรับอุ๊ดจังเองประสบการณ์อื่นนอกจากมาเรียนที่ได้จากออสเตรเลีย คือประสบการณ์การใช้ชีวิตคนเดียวค่ะ ตัวเราเองไม่เคยไปอยู่ที่อื่นเลย มาเรียนที่ออสก็เป็นการมาเรียนไกลบ้านครั้งแรก การต้องใช้ชีวิตคนเดียว รับผิดชอบตัวเองทุกอย่างเป็นเรื่องใหม่ที่เราไม่เคยได้รู้มาก่อนว่าเป็นอย่างไร 

     ถ้าจะมองให้เหนื่อยและลำบากก็มองได้ แต่จะมองให้เป็นโอกาสในการเรียนรู้ชีวิตและได้ลองทำอะไรที่ตัวเองไม่เคยทำมันก็มองได้เหมือนกัน ตัวเรารู้สึกว่าเราทำอะไรหลายอย่างมากที่ไม่เคยได้ทำแบบจริงๆ จังๆ เหมือนตอนอยู่เมืองไทย เช่น ทำกับข้าว คือมันจริงจังมากๆ นะ จริงจังแบบ คือไม่ทำก็ไม่มีกิน เพราะไม่มีกับข้าวสำเร็จขายทั่วๆ ไป มีก็แซนวิชตามซุปเปอร์หรือถ้ามีขายราคาก็จะสูงกว่าทำกินเองมาก 

     เรารู้สึกว่าเรื่องพวกนี้เป็นอะไรที่ทำให้เราเรียนรู้ตัวเองมากขึ้น รู้จักตัวเองมากขึ้น อย่างตอนนี้คือ ชอบทำกับข้าวไปเลย เอนจอยมาก เมื่อก่อนไม่เคยทำ ซื้อโจ๊กปากซอยกินทุกเช้า 35 บาทอิ่มจังตังค์อยู่ครบ แต่พอที่นี่ไม่มีก็ต้องหัดทำ หัดที่จะลองเรื่องอะไรใหม่ๆ ให้กับตัวเอง

     ส่วนเรื่องออกไปเที่ยวนอกเมือง ช่วงที่งานที่มหาวิทยาลัยไม่เยอะก็พอมีโอกาสออกไปนอกเมืองกับเพื่อนอยู่บ้าง ส่วนใหญ่จะเช่ารถแล้วขับออกไปเที่ยว มีได้ไป Grampian National Park, Great Ocean Road, Sorrento, Mornington Peninsula มาบ้าง 

     ก่อนเปิดเทอมปีที่แล้วก็ได้มีโอกาสไป Sydney มาด้วย ส่วนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้ไปเที่ยว Uluru ที่ Northern Territory มาด้วยค่ะ สวยและประทับใจมากๆ

 

     Thai WAH Club : หลังจากเรียนจบมีแพลนจะทำอะไรบ้าง จะอยู่ที่ออสเตรเลียต่อเลยไหมคะ หรืออยากกลับไทยก่อน

     อย่างที่บอกไว้แต่แรกว่าอยากต่อยอดอาชีพนักดนตรีบำบัดด้วยการกลับไปอยู่เมืองไทย ทำงานที่เมืองไทย อยากให้คนไทยรู้จักวิชาชีพนี้มากยิ่งขึ้น ก็วางแผนไว้ว่าจะกลับเมืองไทยก่อนค่ะ หากโอกาสอะไรข้างหน้าก็ค่อยว่ากันอีกทีค่ะ

 

     Thai WAH Club : ฝากบอกทิ้งท้ายสักหน่อยถึงคนที่อยากมาเรียนต่อที่ออสเตรเลียค่ะ

     ก่อนอื่นก็อยากให้กำลังใจทุกคนที่กำลังเตรียมตัวอยู่นะคะ เข้าใจมากๆ ว่าสิ่งที่ต้องทำมันเยอะและ ยากมากๆ แต่ก็ขอให้มุ่งมั่นตั้งใจและไม่ท้อค่ะ เพราะมันเป็นสิ่งที่จะผลักดันตัวเราให้ไปข้างหน้าต่อได้ ส่วนใครที่กำลังคิดจะมาเรียนที่ออสเตรเลียแต่ยังไม่ได้เริ่มเตรียมตัว ก็อยากบอกว่าเตรียมตัวดีมีชัยไปกว่าครึ่งนะคะ ฮ่าๆๆ 

     ถ้าน้องๆ ยังอยู่ปี 3 หรือ ปี 4 เตรียมตัวไว้เลยค่ะ คิดเลยว่าอยากเรียนอะไร อยากเข้าที่ไหน พอเราเริ่มวางแผนเราจะเห็นเป้าหมาย พอเราเห็นเป้าหมายเราจะเห็นทางที่ไปให้ถึงจุดๆ นั้น แต่ถ้าเราไม่เริ่มคิดหรือวางแผนอะไรเลย พอถึงเวลาที่เราต้องเลือกเดินเราก็จะมองไม่เห็นแม้แต่ก้าวที่อยู่ข้างหน้า ถ้าเราวางแผนแล้วเราเปลี่ยนแผนได้ แต่ถ้าไม่ได้วางแผนไว้เลยก็จะไม่รู้เลยว่าอะไรคือแผนของเรา สู้ๆ นะคะทุกคน เป็นกำลังใจให้ค่ะ :-)

 

     ติดตามบทความสัมภาษณ์ประสบการณ์การใช้ชีวิตในออสเตรเลียอื่นๆ ได้ที่ www.thaiwahclub.com หรือทางเฟซบุ๊คเพจ ThaiWAHClub 

     หากใครมีประสบการณ์ไป WAH ไปเรียน หรือไปทำงานที่ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ สามารถเข้ามาแชร์ประสบการณ์กันได้ โดยติดต่อมาที่ Inbox ของเฟซบุ๊คเพจ ThaiWAHClub และทาง LINE@ : @beyondstudy