ข่าวสาร >
2021
November
2
เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ในออสเตรเลียรวยขึ้นมากขณะที่คนทำงานพบว่าการสร้างความมั่นคงทำได้ยากขึ้น
โดย : Adminstrator ( จำนวนผู้เข้าชม 1717 คน )

ผู้เชี่ยวชาญชี้ ภาษีที่เอื้อประโยชน์แก่เจ้าของสินทรัพย์และเป็นโทษต่อคนทำงานรับค่าแรงจะนำสังคมไปสู่วิกฤติ
ราคาบ้านและมูลค่าตลาดหุ้นเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่ค่าแรงกลับแทบไม่ขยับขึ้นเลย นี่หมายถึงช่องว่างที่ขยายกว้างขึ้นระหว่างคนที่ทำเงินได้จากทรัพย์สินกับคนที่ได้เงินจากแรงงานของตน เป็นสถานการณ์ที่แม้แต่คนที่ได้ประโยชน์ก็ยังคิดว่าควรจะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้แล้ว


Rob Pallin กล่าวว่า นี่เป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรม ตัวเขาเองได้รับลดหย่อนภาษีแบบที่คนอายุน้อยกว่าไม่ได้เพราะคนเหล่านั้นทำงานแลกเงิน ส่วน Paddy Pallin ประธานของแบรนด์ก็รู้สึกไม่พอใจเช่นกัน


"ไม่ยุติธรรมเลยที่คนร่ำรวยบางคนมีเงินไปจ้างนักบัญชีกับนักกฎหมายเก่งๆมาช่วยทำเรื่องภาษี ก็เลยไม่ต้องจ่ายภาษีตามที่สมควร มีหลายวิธีเลย เช่น เอาเงินไปลงทุนในหุ้นบางตัวแล้วได้เครดิต franking ได้กำไรหลักทรัพย์ อะไรพวกนั้น"


โรคระบาดได้ทำให้มูลค่าสินทรัพย์พุ่งสูงขึ้น ราคาบ้านในออสเตรเลียขณะนี้เพิ่มมากกว่าเดิมถึง 19% พุ่งไป 52,600 เหรียญแค่ในไตรมาสมิถุนายน ดัชนี ASX 200 ที่ทำชาร์ทมูลค่าของบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในออสเตรเลีย 200 แห่ง สูงขึ้น 24% จากช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว และสูงขึ้นมากกว่า 42% ใน 5 ปีที่ผ่านมา


ในขณะเดียวกัน ค่าแรงเพิ่มขึ้นแค่ 1.7% เท่านั้นในปีนี้ และขึ้นน้อยมากมาเกือบตลอด 10 ปี กระทรวงการคลังคาดว่าคนจะเริ่มกดดันกันมากขึ้นจากกำลังซื้อของตนที่กำลังลดถอยลงเรื่อยๆ


Anna Langford เป็นคนหนึ่งที่กำลังเรียน ทำงาน และทำอาสาสมัครไปด้วย ในสายงานบริการและค้าปลีก เธอกล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนหนุ่มสาวต้องทำหลายอย่างในเวลาเดียวกันเพื่อเอาตัวรอด แต่การจัดการรายได้ของ Anna เมื่อเทียบกับ Rob แล้วต่างกันมหาศาล สำหรับ Anna กับเพื่อนๆ แล้ว การสร้างความมั่นคงการทางเงินหรือการซื้อบ้านเป็นสิ่งที่ไกลตัวเป็นอย่างมาก


Saul Eslake นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่า การสำรวจสำมะโนประชากรล่าสุดจะแสดงให้เห็นว่าอัตราการเป็นเจ้าของบ้านของคนอายุระหว่าง 20 ปี – 30 ปีกลางๆ จะอยู่ในจุดต่ำสุดตั้งแต่ปี 1950


ช่องว่างระหว่างคนที่มีรายได้จากสินทรัพย์ เช่น อสังหาฯ เงินเกษียณ และหุ้น กับคนที่มีรายได้จากการทำงาน กำลังทำให้นักเศรษฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีเกิดความกังวล


"เงินออมในรูปแบบต่างๆถูกเก็บภาษีในอัตราที่ต่างกันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ" Kristen Sobeck เจ้าหน้าที่วิจัยอาวุโสของ Tax and Transfer Policy Institute of ANU's Crawford School of Public Policy กล่าว


Dr Angela Jackson แห่ง Equity Economics ชี้ถึงการสิ้นสุดของภาษีความมั่งคั่งในช่วงทศวรรษที่ 1970 ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการที่ออสเตรเลียพึ่งพิงภาษีเงินได้มากขึ้น ตอนที่นายกรัฐมนตรี John Howard ลดภาษีกำไรหลักทรัพย์ลงถึง 50% ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่านั่นทำให้ความน่าดึงดูดของรายได้จากสินทรัพย์เพิ่มขึ้นอย่างมาก ความไม่เท่าเทียมในด้านความมั่งคั่งก็ขยายขึ้นเรื่อยมา ก่อให้เกิดความไม่สมดุลย์ระหว่างภาษีเงินได้กับภาษีสินทรัพย์และภาษีกำไรจากการลงทุน การเลือกตั้งในครั้งหลังๆที่ผ่านมา จะมีข่าวลือตามมาว่าจะมีการเก็บภาษีมรดกอีกครั้ง แต่ยังไม่มีพรรคการเมืองใหญ่พรรคใดเสนอการเก็บภาษีผู้รับมรดกหรือภาษีความมั่งคั่งแต่อย่างใด


Dr Jackson กล่าวว่าคนแบบคุณ Pallin ได้ประโยชน์จากนโยบายภาษีที่แตกต่างกันออกไปเรื่อยมา รายได้ของคุณ Pallin ถูกเก็บภาษีไปเพียงครั้งเดียวเท่านั้น นั่นคือตอนที่ได้เงินมา แต่พอแปลงเงินเป็นสินทรัพย์ เขาก็ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีซึ่งรวมถึง การลดภาษีเงินซุปเปอร์ฯ ที่ลดจำนวนภาษีที่เรียกเก็บเงินได้  Negative gearing ที่สร้างแรงจูงใจให้นำเงินไปซื้อทรัพย์สินสำหรับลงทุน  ส่วนลดภาษีกำไรหลักทรัพย์หากมีการขายอสังหาฯหรือขายหุ้น  เครดิต franking ให้เงินปันผลของหุ้นบางตัว  
แม้ว่าผู้มีรายได้ทุกคนจะมีสิทธิ์ได้รับการลดหย่อนภาษีเหล่านี้ แต่นักเศรษฐศาสตร์บางคนก็แย้งว่าคนรวยนั้นได้ประโยชน์มากกว่า


"การลงทุนที่ผมทำอยู่ ได้รับการจัดการภาษีที่ดีกว่าคนที่ได้เงินจากการทำงาน " คุณ Pallin กล่าว ส่วนคุณ Langford ที่ได้เงินจากการทำงานนั้นไม่ได้ยินดีกับเรื่องการลดหย่อนภาษี  แต่เศรษฐีบางคนก็อยากจ่ายภาษีมากกว่านั้น เพื่อลดความไม่เท่าเทียม และแก้ไขปัญหาใหญ่ในสังคม


Djaffar Shalchi นายทุนจากเดนมาร์กกล่าวว่า ตนเองไม่ได้ใช้เงินเพิ่มมากขึ้นเลยตอนที่รวยขึ้นเรื่อยๆ และตอนที่เกิดโควิด ทุกคนก็ได้ตระหนักว่าต้องต้องหาอะไรสักอย่างมาแก้ปัญหา


Djaffar Shalchi ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง Millionaires for Humanity อันเป็นเครือข่ายของคนมีฐานะที่เป็นตัวแทนเรียกร้องให้เพิ่มภาษีคนรวย ได้ชี้ดให้มองดูประเทศนอร์เวย์ซึ่งมีการเก็บภาษีความมั่งคั่งมานานแล้ว กับภาษีศุลกากรในอาร์เจนติน่ากับโบลิเวีย และเขาได้พูดถึงเงินลงทุนจำนวนนับล้านล้านเหรียญที่จำเป็นต้องใช้เพื่อป้องกันภาวะโลกร้อนขึ้นเกิน 1.5 องศาด้วย ซึ่งพวกมหาเศรษฐีควรจะร่วมแก้ปัญหา คนเหล่านี้มีพลังในการล้อบบี้รัฐบาลในหลายประเทศ แต่กลับพยายามอย่างมากที่จะไม่ต้องจ่ายภาษี ประชาชนจึงควรจะต้องโหวตเลือกนักการเมืองที่ยอมเสียภาษี


ความเปลี่ยนแปลงในระบบภาษีที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดในช่วงทศวรรษหลังๆที่ผ่านมานี้ คือภาษีสินค้าและบริการ (GST) ที่มีการเรียกเก็บตั้งแต่ 2 ทศวรรษก่อน เหตุผลหนึ่งที่การปฏิรูปภาษีเป็นไปได้ยากคือ มีกฎเกณฑ์ที่ทำให้เกิดกลุ่มผู้ได้ประโยชน์ที่จะออกมาคัดค้านไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
"หากมีคนได้รับประโยชน์เมื่อไหร่ การจะเอาผลประโยชน์นั้นออกไปจะทำได้ยากมาก และกลายเป็นปัญหาที่ยากมากขึ้นเมื่อคนที่ได้ประโยชน์ดังกล่าวคือคนร่ำรวย เพราะคนเหล่านี้มีอิทธิพลทางการเมืองในสังคม" Dr Mark Zirnsak โฆษกของ Tax Justice Network Australia กล่าว


Dr Jackson แห่ง Equity Economics กล่าวว่าคนหนุ่มสาวจะยิ่งต้องจ่ายเพิ่มมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ยิ่งถ้าไม่ได้รับความช่วยเหลือจากพ่อแม่ ก็จะต้องดิ้นรนเพื่อเข้าตลาดที่อยู่อาศัยให้ได้ เพราะถ้าไม่มีทรัพย์สินชนิดนั้นก็จะต้องจ่ายภาษีเงินได้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปก็คือ จะมีการเก็บภาษีจากคนทำงานมากขึ้น แต่ในวิกฤติโควิดก็อาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นได้ ซึ่งหมายถึงรัฐบาลใช้เงินไปหลายพันล้านเหรียญเนื่องจากต้องปิดภาคธุรกิจที่ทำกำไรเพื่อหยุดยั้งการระบาด


"นอกเหนือจากหนี้มหาศาลที่เป็นผลมาจากโควิด การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุก็จะเป็นตัวกระตุ้นให้มองเห็นความจำเป็นในการปฏิรูปภาษี" Kristen Sobeck จาก Crawford School of Public Policy กล่าว
คุณ Pallin กล่าวว่า ต้องการให้ผลประโยชน์ต่างๆที่เขาได้นั้น ได้แบ่งปันไปสู่คนอื่นๆอย่างคุณ Langford บ้าง


"ผมคิดว่าคนเราควรได้รับการปฏิบัติให้เท่าเทียมกันมากกว่านี้ ออสเตรเลียเคยมองตัวเองว่าเป็นประเทศที่ดีและเสมอภาค แต่ผมว่าเรากำลังสูญเสียสิ่งเหล่านั้นไปทีละน้อย ซึ่งเราควรจะต้องเอามันกลับมา"

Source : abc.net.au