ครั้งก่อนผมแนะนำเวปไซต์ Fair Work Ombudsman ไปให้เพื่อนๆใน Thaiwahclub Facebook เพื่อจะได้รู้จักสิทธิ์ของตนเองในการทำงานในออสเตรเลีย และหน่วยงานที่ช่วยเหลือเราหากเราโดนเอาเปรียบครับ
เวปไซต์ของ Fair Work นี่ดีมากๆสำหรับคนที่คิดจะทำงานในออสเตรเลีย เพราะมีรายละเอียดทั้งเรทเงินที่ควรได้ สิทธิต่างๆที่เราพึงจะมี
ผมแนะนำให้ลองอ่านเวปนี้กันเยอะๆก่อนไปออสหรือศึกษาไว้บ้างก่อนเริ่มหางานได้ก็จะดีที่สุดครับ
ปัญหาที่ผมพบว่าหลายๆคนเป็นเหมือนกันถ้ายังไม่เคยไปอยู่ออสเตรเลีย คือจะนึกภาพไม่ออกว่าอะไรจะเป็นยังไง
ในบทความนี้ผมนำข้อมูลบางส่วนจากเวป Fair Work และประสบการณ์มาแชร์ให้ฟังกัน เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้นว่าเราจะไปเจออะไร และต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง โดยแบ่งเป็น
หัวข้อดังนี้ครับ
ข้อควรทราบก่อนเริ่มหางาน
ก่อนที่เราจะเริ่มหางานใดๆ ก่อนอื่นเราควรทำความเข้าใจอย่างละเอียดเกี่ยวกับสิทธิในการทำงานของตัวเองสำหรับประเภทของวีซ่าที่เราถืออยู่ครับ เช่น
Work and Holiday Visa : ทำงานได้ 6 เดือนต่อ 1 นายจ้าง / ไม่จำกัดชม.การทำงานต่อสัปดาห์
สำหรับความหมายของ 6 เดือนนี่หมายถึงว่านับตั้งแต่วันแรกที่เราเริ่มทำงาน นับไป 6 เดือนนะครับ การที่เราจะบอกว่า เราทำเป็น Casual ทำไปเดือนนึง แล้วไม่มีงานไปอีกเดือนนึง เพิ่งได้มาทำต่อ เดือนที่ไม่ได้ทำงานก็ต้องถือว่านับไปด้วยครับ
Student Visa : ทำงานได้ 40 ชั่วโมงต่อ 2 สัปดาห์ ไม่จำกัดระยะเวลาทำงานต่อนายจ้าง
โดยในช่วงปิดเทอมผู้ถือวีซ่านักเรียนสามารถทำงานได้ full-time
Student Independent Visa : หรือวีซ่าผู้ติดตามนักเรียน ปกติแล้วสามารถทำงานได้เท่ากับนักเรียนคือ 20 ชม.ต่อสัปดาห์
แต่สำหรับผู้ถือวีซ่าติดตามนักเรียนป.โท และป.เอกสามารถทำงานได้ full-time ตลอดไม่ว่าจะช่วงเปิดหรือปิดเทอมของผู้ถือวีซ่าหลักครับ (หลักผู้ถือวีซ่าหลักเริ่มเรียนคอร์สหลักแล้ว ไม่ใช่เรียนภาษาอยู่)
หลังจากทราบข้อจำกัดในการทำงานของวีซ่าตัวเองแล้ว เราก็ควรจะมารู้ถึงสิ่งที่เราควรจะได้รับหากทำงานที่จ้างเราตามกติกาถูกต้องตามกม.ของออสเตรเลีย
ลักษณะการจ้างงาน
ในออสเตรเลียเราแบ่งประเภทของการจ้างงานออกเป็นสามประเภทหลักๆได้แก่
1) Full-time employee : โดยทั่วไปจะต้องทำงานไม่เกิน 38 ชม.ต่อสัปดาห์ ผู้ที่ถูกจ้างแบบ full time ควรจะได้ benefits ต่างๆเช่น paid annual leave / sick leave / maternity leave / holiday pay (เช่น ช่วงที่หยุดงานก็ต้องได้รับค่าจ้างปกติ – ทั้งนี้ทั้งนั้นเค้าก็จะมีกำหนดนะครับ ว่าต้องทำไปนานเท่าไหร่ถึงจะเริ่มใช้สิทธิ์เหล่านี้ได้ ไม่ใช่เข้าไปทำวันแรกขอ annual leave วันถัดไปเลยเป็นต้น)
2) Part-time employee : จะทำงานเป็นจำนวนชม.ที่น้อยกว่า full-time แต่มักจะได้ benefits เหมือนๆกัน โดยจะคำนวนเป็นสัดส่วนกันไปหรือที่เรียกว่า Pro rata
โดยปกติแล้วการทำงานเป็นกะ เป็นชิฟท์ที่แน่นอนมักจะเป็น part-time
3) Casual employee : จะทำงานนับเป็นชม. หรือวัน โดยจะมีความเสี่ยงของการที่ไม่มีงาน ไม่ได้มีการการันตีให้จากทางหัวหน้าเท่ากับสองแบบข้างต้น และคนที่ทำ casual ก็มักจะไม่ได้ benefits ต่างๆ ถ้าป่วย หรือถ้าลาก็ไม่ได้เงินในวันนั้นๆไป หรือเรียกว่าเป็นลูกจ้างรายวันก็ไม่ผิดนัก
อย่างไรก็ตามการทำงาน Casual มักจะได้เงินสูงกกว่า Part-time/ Full-time พอสมควรหากหารมาเป็นค่าจ้างต่อชม. เพราะต้องรับความเสี่ยงเยอะกว่าครับ
โดยปกติแล้วสำหรับเด็ก WAH หรือนักเรียน งาน casual ที่นิยมจะเป็นงานที่เป็นตามฤดูกาล เช่น แพกเชอร์รี่ แพกหนังสือในโรงงานเพราะมีงานเร่ง งานเหล่านี้อาจจะมีไปเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน แต่ก็ถือว่าเป็นช่วงที่เก็บเงินได้ดีครับ
สำหรับเรทของปี 2017 : ค่าแรงขั้นต่ำในออสเตรเลียแบบ Full time/Part time อยู่ที่ $18.29 ต่อชั่วโมง และ แบบ Casual อยู่ที่ $22.86
นอกจากนั้นการจ้างงานอีกประเภทที่ควรรู้เรียกว่า Contracting
คือการจ้างงานเป็นกันเป็นงานๆกันไป เหมือนเป็นผู้ประกอบการณ์อิสระ โดยปกติแล้วการทำงานแบบ contracting นี่คือการที่บริษัทหนึ่งไปจ้างอีกบริษัทหนึ่งทำงานครับ (คือทั้งสองฝ่ายมี business identity)
การที่เราจะมี business identity ได้เราต้องสมัครหมายเลข Australian Business Number หรือ ABN
สำหรับผู้ที่สนใจขอ ABN ลองอ่านบทความเรื่อง ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับ ABN โดยเจ๊ดอส
***สำหรับในเวป Fair Work เองเตือนไว้ว่า
นายจ้างบางคนก็สร้างความสัมพันธ์ให้การจ้างงานให้ดูเหมือนว่าเป็น contracting เป็นการจ้างงานระหว่างบริษํทกับ business อื่นๆ แต่จริงๆแล้วเป็นการจ้างงานเพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายค่าแรงขั้นต่ำ ภาษี และผลประโยชน์ต่างๆของลูกจ้าง เช่น annual leave หรือ sick leave ซึ่งการกระทำเหล่านี้เรียกรวมๆว่า Sham contracting
สิ่งที่ต่างกันอย่างหนึ่งแน่ๆของการใช้ TFN และ ABN คือ TFN เราจะได้รับการคุ้มครองตามกม.แรงงานของออสเตรเลีย และ ABN ไม่ (เพราะถือเป็น business)
ประเภทของงาน :
คำถามแรกที่เรามักจะถามตัวเองเมื่อจะไปทำงานต่างประเทศ คือ “เราจะทำไปทำงานอะไรดี” และคำถามที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ “มีงานอะไรให้เราทำบ้าง”
จริงๆแล้วงานก็มีอยู่เกือบทุกประเภทที่เราทำได้ในไทย (แต่เรามักจะไม่ได้ทำในไทยและมองข้ามไป) Fair Work แบ่งประเภทของงานในที่นี้จะแบ่งออกตาม Award ( Award จะเป็นตัวแบ่งตามประเภทของงานตามกฎหมายว่าเราถูก cover โดย award ใด เช่น Fast Food Award ก็จะบอกประเภท และระดับของการจ้างงาน และเงินเดือน ของร้าน Fast Food เป็นต้น) แต่ในที่นี้ผมขอเล่าถึงลักษณะของงานประเภทต่างๆแบบคร่าวๆให้ฟังครับ ( Fair Work แบ่งประเภทงานออกเป็น 9 ประเภท ผมขออธิบายเฉพาะประเภทหลักๆที่เห็นทั้งเด็ก WAH และนักเรียนทำอยู่บ่อยๆนะครับ)
Hospitality
เป็นงานสุดฮิตประเภทหนึ่ง หมายรวมถึงงานบริการ ซึ่งฟังดูกว้างมาก ขอแบ่งออกเป็น 3 ประเภทคร่าวๆดังนี้ครับ
1.Restaurants and Cafes : ร้านอาหารต่างๆ และร้านกาแฟ
ผมขออธิบายคร่าวๆในส่วนงานร้านอาหาร เพราะงานร้านกาแฟ คุณดาวเค้าเขียนแชร์ประสบการณ์การทำงานและประเภทของงานต่างๆไว้ในเวป Beyond Study Center แล้วในบทความ งานร้านกาแฟในออสเตรเลีย ครับ
สำหรับร้านอาหารทั่วไป จะแบ่งตำแหน่งออกเป็น สองประเภทหลักๆ คือ Kitchen Staff กับ Front Staff
Kitchen Staff ผมขออธิบายตำแหน่งคร่าวๆของ Kitchen staff ในร้านอาหารไทยซึ่งมีรายละเอียดค่อนข้างเยอะ เวลาไปทำร้านฝรั่งจะได้พอเห็นภาพเช่นกันครับ
Dish Washer : หมายถึงตำแหน่งล้างจาน เป็นตำแหน่งที่ดูเหมือนจะง่ายที่สุด แต่ถ้าไม่เคยทำมาจะได้รู้ว่าไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะล้างให้ทัน เร็ว และสะอาด เป็นตำแหน่งที่ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรที่ซับซ้อนมาก ล้างให้ทัน เตรียมของ หรืออาจจะหุงข้าวให้ทันตามที่ได้รับมอบหมายก็ถือว่าโอเคแล้ว หลายๆครั้งมักจะต้องรับผิดชอบการทิ้งขยะ และงานจิปาถะอื่นๆที่อาจจะเลอะเทอะหน่อยแถมมาด้วยตามสมควรครับ
Kitchen Hand : เป็นตำแหน่งผู้ช่วยในครัว โดยปกติทำหน้าที่หั่นผัก หั่นเนื้อ เตรียมของให้กับ Chef ร้านไทยบางร้านบางทีก็ใช้ตำแหน่งนี้ปนๆกันไปกับ Dish Washer ในร้าน
Entrée Maker : หรือเรียกกันว่ามือ entrée (ออง-เทร) คำว่า Entrée ก็จะเหมือนกับ Appetizer ใน America ซึ่งหมายถึงของว่างก่อนมื้ออาหาร
ในร้านอาหารไทยจะมีเมนู Entrée ที่ฮิตๆได้แก่ ปอเปี๊ยะ (Spring rolls) , ทอดมัน (Fish cake) , สะเต๊ะ (Satay)
บางร้านที่ยุ่งๆ คนที่ทอดหรือทำ Entrée ก็จะทอดจะทำอยู่อย่างนั้นแหละ จัดอาหารให้ทันกับความต้องการของลูกค้าและควบคุมให้คุณภาพอาหารออกมาโอเค ไม่ไหม้เกินไป ไม่ทอดออกมาแล้วไม่สุก และจัดหน้าตาให้โอเค
Curry Hand : หรือเรียกกันว่ามือแกง ทำหน้าที่ทำอาหารประเภทแกง ต่างๆ เช่น แกงเขียวหวาน ต้มยำ ต้มแซ่บ แกงแดง แกงเหลืองว่ากันไป โดยทั่วไปตามร้านต่างๆจะมีสูตรแกงให้เราปรุงอยู่ด้วยครับ
Chef : อาหารไทยในต่างแดนที่ฮิตๆกันคือ อาหารจำพวก Stir-fry ได้แก่ ผัดต่างๆ เช่น ผัดไท ผัดซีอิ๊ว ผัดกะเพรา เป็นต้น เชฟหรือที่บางที่ก็มีตำแหน่งมือผัด ไว้สำหรับทำอาหารจานฮิตพวกนี้ครับ ในร้านอาหารเชฟจะเปรียบได้เหมือนกับกัปตันบนเครื่องบินที่ต้องรับผิดชอบเยอะกว่าคนอื่นพอสมควร ดังนั้นรายได้ก็จะสูงไปด้วยครับ
หลังจากดูฝ่ายในครัวกันไปแล้ว ไปดู Front staff กันบ้าง
Wait staff : หรือพนักงานเสริฟ โดยหลักๆแล้วจะทำหน้าที่ต้อนรับลูกค้า รับออเดอร์ คอยบริการลูกค้า ซึ่งจะต้องบริการมากแค่ไหนขึ้นอยู่กับลักษณะของร้านว่าเป็นร้านแบบทำนองอาหารตามสั่ง หรือว่าเป็นร้าน fine-dining
Wait staff ควรจะต้องมีภาษาอังกฤษที่โอเคประมาณนึง อาจจะมีลุคที่ดูสะอาดสะอ้าน รู้จักประเภทของอาหาร และส่วนประกอบของแต่ละรายการ เป็นตำแหน่งที่ต้องติดต่อพูดคุยกับลูกค้า และต้องแก้ปัญหาเยอะพอสมควร
Cashier & Reception: แคชเชียร์ก็จะทำหน้าที่คิดเงินเป็นหลัก บางร้านที่ไม่วุ่นมามากก็จะให้ Cashier รับโทรศัพท์ไปด้วย งานรับโทรศัพท์เป็นงานที่อาศัยสกิลการฟังค่อนข้างมาก เพราะว่านอกจากต้องฟังรายละเอียดที่ลูกค้าค้องการแล้ว บางร้านที่มีบริการ Home delivery service ก็จะต้องจดที่อยู่ จดรายการอาหาร ชื่อให้ถูกต้องทั้งหมดด้วย (เพราะถ้าผิดกันทีก็จะวุ่นติ้วเลย)
Runner : ในร้านที่ยุ่งจัดๆ Runner จะเป็นคนรันอาหารอย่างเดียว รับอาหารจากในครัวไปลงโต๊ะนั้นโต๊ะนี้ runner เองก็ต้องอาศัยความจำที่ดี ไม่ลงอาหารให้ผิดโต๊ะเหมือนกันครับ ไม่งั้นถ้าคิวออเดอร์รวมมาทีก็จะวุ่นเหมือนกัน และอาจจะโดนโวยกันได้
2. Bars & Gaming
งานในผับบาร์ คาสิโน เป็นงานที่หลายๆคนอยากทำ เพราะว่าได้ค่าตอบแทนค่อนข้างสูง โดนงานทั้งสองประเภทก่อนที่จะไปทำได้เราจะต้องมี License คือ RSA สำหรับ Bars หรือร้านอาหารที่เสริฟแอลกอฮอล์ และ RCG สำหรับทำงานเกี่ยวกับตู้พนันหรือ Gaming Machine
*อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ RSA และ RCG ได้ใน มารู้จัก RSA & RCG กันดีกว่า
การมีใบพวกนี้ไม่ได้แปลว่าเราจะต้องทำงานเป็น Bartender ได้ หรือเป็น dealer ในคาสิโนที่เก่งแต่อย่างใด เพราะใบพวกนี้ถ้าเปรียบกันก็เหมือนใบขับขี่ที่อนุญาตให้เราขับรถได้ แต่เราจะขับรถแต่ละคันเก่งแค่ไหนยังไงก็อยู่ที่การฝึกฝนและขวนขวายของเราเองด้วย
งานในผับเองก็มีหลายแบบตั้งแต่ Securiy (ไม่ค่อยเห็น Asian ทำ เห็นแต่คนตัวใหญ่ๆ) Bartender หรือ Glassie ที่ทำหน้าที่เก็บแก้วที่แขกดื่มหมดแล้วเป็นหลัก (แต่เงินดี)
3. Hotels สำหรับผู้ที่มีประสบการณ์ ทำงานโรงแรมมาแล้วโดยเฉพาะโรงแรมที่มีเครืออยู่ในต่างประเทศจะค่อนข้างได้เปรียบสำหรับการหางานประเภทนี้ครับ เด็ก WAH หลายๆคนก็ได้ไปทำงานโรงแรมกันเยอะอยู่ ทั้งในช่วงปกติ และในช่วง seasonal อย่างหน้าหนาว (ทำ ski-resort) งานมีหลากหลายฟังค์ชันตามที่รร.พึงจะมีเช่น front , เด็กยกกระเป๋า , housekeeping เป็นต้น
Cleaning
หรือที่เรียกกันติดปากคนไทยว่างานคลีน ซึ่งก็แปลได้ตามชื่อเลย งานนี้ก็คืองานทำความสะอาดในรูปแบบต่างๆครับ
งานคลีนจะมีหลายแบบตั้งแต่ คลีนออฟฟิศ คลีนตามบ้าน คลีนร้านอาหาร ซึ่งงานคลีนแต่ละอย่างก็ใช้ทักษะที่แตกต่างและมีลักษณะงานต่างๆ กันไป
เช่น งานคลีนออฟฟิศ โดยทั่วไปเราก็จะได้รับมอบหมายให้ทำการเก็บขยะตามโต๊ะ ปัดฝุ่น และเช็ดโต๊ะเล็กๆน้อยๆ ตลอดจนดูดฝุ่นด้วยเครื่องดูดฝุ่น เป็นต้น (นึกภาพออฟฟิศใหญ่ๆ โต๊ะทำงานเยอะๆมากๆ ทำคนเดียวทั้ง floor ก็มี)
งานคลีนมีค่อนข้างหลากหลาย ผมเห็นหลายๆคนก็ไปคลีน stadium กันดึกๆก็มีครับ
ที่สำคัญสำหรับงานนี้คือต้องทำให้เร็วและสะอาด สิ่งที่คนที่ทำงานคลีนส่วนใหญ่ชอบงานนี้กันเพราะได้เงินโอเค และไม่เหนื่อยมาก หมายถึงแรกๆอาจจะเหนื่อยแต่พอชินแล้วจะถือว่าค่อนข้างสบายและอาจจะทำเสร็จเร็วได้ก่อนเวลาครับ
Clerical
หรือเสมียน/งานออฟฟิศ อาจเป็นงานที่เด็ก Work and Holiday และนักเรียนอาจจะไม่ได้เน้นว่าอยากทำกันมากเหมือนงานอื่น อาจจะเพราะเบื่องานออฟฟิศที่ไทย และอาจจะเป็นเรืองของภาษาหรือคอนดิชันของวีซ่า แต่เป็นงานที่ได้ฝึกภาษาและได้เพื่อนเยอะเหมือนกัน
งานแนวๆนี้จะจ่ายค่อนข้างดี และถือว่าทำงานสบาย (ไม่เหนื่อยกาย) โดยงานประเภทที่ฮิตๆกันได้แก่ data entry หรืองานคีย์ข้อมูล
งานที่ผมเคยทำตอนไปอยู่ใหม่ๆแถวๆ Chatswood (Sydney) ให้ทำงานตั้งแต่ 8 โมงเช้าจนถึง 5 โมงเย็น จ่ายชม.ละประมาณ 18 AUD ก็ถือว่าทำไม่หนักและได้เงินเยอะอยู่ครับ (เพราะเป็น casual ด้วยแหละ)
งานอีกประเภทที่น่าสนใจคือ Reception แต่งานประเภทนี้จะต้องมีทักษะการพูดและการฟังค่อนข้างดีมากเพราะต้องติดต่อกับคนเยอะทางโทรศัพท์ครับ
Fast Food
ในที่นี้หมายรวมถึงร้าน Fast food แบบ Mcdonald / KFC และร้านอาหาร take away ต่างๆ ไม่ว่าจะขายข้าว / ขนม / ice cream
สำหรับงานพวก Mc โดยทั่วไปที่เห็นคือเค้านิยมจ้างเด็ก high school มาทำมากกว่า เพราะภาษาเค้าจะได้กันอยู่แล้ว และไม่ต้องจ่ายเยอะมากเท่ากับคนที่อายุ 21 ปีขึ้นไปเพราะกม.กำหนดไว้ (แต่ตามเมืองที่ไม่ใหญ่มากก็เห็นเด็ก Work and Holiday ได้งาน Mc กันหลายคนอยู่นะครับ)
งานในประเภทนี้อีกงานนึงที่น่าสนใจและอาจจะถูกใจคนชอบกินหลายๆคนได้แก่ งานตักไอศครีม คือทำหน้ารับออเดอร์ และตักไอศครีมใส่ และคิดเงิน ทอนเงินตลอดจนเปิดร้าน ปิดร้าน
สำหรับร้านอาหารไทย และร้านอาหารประเภทอื่นๆตาม food court / food centre บางร้านก็จะมีขายแบบข้าวแกงบ้านเรา เป็นอาหารตักๆ ก็เลยจะมีตำแหน่งตักอาหารด้วยครับ
ทักษะที่สำคัญสำหรับงานประเภทนี้คือ เราต้องฟังลูกค้าให้รู้เรื่อง เพราะเวลาทำผิดไปเวลาร้านวุ่นๆจะเสียเวลามาก และจะโดนเจ้านายและเพื่อนร่วมงานดุเอาได้ครับ
Hair & Beauty
งานร้านทำผม สปา และงานที่เกี่ยวกับความสวยงามต่างๆ : สำหรับคนที่มีทักษะด้าน ทำผม ทำเล็บ สปา อยู่แล้วก็จะได้เปรียบทางด้านนี้ครับ ในที่นี้ขอรวมถึงร้านนวดไปด้วยเลยแล้วกัน :>
สำหรับร้านทำผมเองคงค่อนข้างยากที่จะรับคนไม่มีประสบการณ์เลย แต่ก็มีบ้างที่เค้ารับผุ้ชายตาม salon ของทั้งไทยและต่างชาตินะครับ (แบบมาลองทำดูก่อน)
พูดถึงงานนวดเป็นอีกงานที่ฮิตสำหรับเด็ก Work and Holiday และนักเรียน โดยเฉพาะงานนวดในร้านนวดไทย
ไม่เจาะจงว่าเป็นชาติไหน แต่สำหรับงานประเภทนี้สิ่งนึงที่ต้องระวังกันหน่อยก็คือร้านนวดแอบแฝงครับ
โดยทั่วไปร้านดีๆ เค้าก็จะมีการป้องกันพนักงานเค้า และยินดีให้พนักงานไม่ต้องนวดได้หากมีการพูดจาเชิงที่จะชวนให้ทำบริการแปลกๆ และให้ลูกค้าคนนั้นออกไปครับ
งานตัดผมมีทั้งทำตามร้าน และช่างผมไทยบางคนก็รับตัดผมให้ที่บ้านตัวเอง หรือตามบ้านลูกค้าด้วยบ้างเหมือนกันครับ
Horticulture
หรือที่เรียกกันติดปากว่างานฟาร์มนั่นเอง งานนี้เป็นงานที่ฮิตเสมอสำหรับเด็ก Work and Holiday เพราะมีงานอยู่เรื่อยๆตลอดปี
ข้อดีคือถ้าทำกับ backpacker ที่เค้าหางานให้ก็จะได้เรทดี และได้เพื่อนต่างชาติเยอะ
Working holiday makers ต่างชาติจะนิยมทำงานฟาร์มกันเพราะเค้าจะสามารถขอ 2nd visa ได้หลังจากทำงานฟาร์มใน regional area ครบ 3 เดือน แต่ของเราต่อไม่ได้นะครับไม่ว่าจะทำหรือไม่ทำก็ตาม
ส่วนงานฟาร์มที่อาจจะหาง่ายกว่าแต่ได้รับเงินน้อยกว่ามักจะเป็นงานฟาร์มที่ทำกับ Contractor ครับ โดยมากแล้ว Contractor เหล่านี้มักจะเป็นคน South East Asia ด้วยกัน เช่น กัมพูชา ไทย เวียดนาม และอาจมีอินเดียบ้างประปราย
โดยเค้าจะหางาน หาที่พักให้ แต่ก็จะหักค่าชม.เราไปตาม(ที่เค้าเห็นว่า)สมควรครับ
งานมีตั้งแต่ไร่องุ่น สวนส้ม เชอร์รี่ สตอร์เบอร์รี่ และพืชพันธุ์อื่นๆตามแต่จะนึกออกซึ่ง ซึ่งต้องการแรงงานตั้งแต่ขุดดิน หว่านพืช ปลูกต้นกล้า ตัดกิ่ง และอื่นๆ
เป็นงานที่ถือว่าหนักพอสมควรเพราะต้องสู้แดดสู้ฝนตลอดครับ นึกภาพชาวสวนบ้านเรานี่แหละ
งานฟาร์มโดยทั่วไปจะเป็นงานฟาร์มที่เกี่ยวกับพืชซะมากกว่า น้อยคนที่จะไปทำงานฟาร์มสัตว์ครับ (คงมีบ้างแต่ผมไม่ค่อยได้ยิน)
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานฟาร์ม
การเตรียมตัวไปทำงานฟาร์ม
เล่าเรื่องการทำงานฟาร์ม by Closer
The girl in the capital city of kiwi fruit
Retail
ในที่นี้หมายถึงงานในร้านขายปลีกทั่วไป มีประเภทของงานหลากหลายตั้งแต่ งานร้านขายของที่ระลึก งานร้านสะดวกซื้อ งานร้านขายของชำ งานร้านเสื้อผ้า เครื่องประดับ งานขายของในห้างสรรพสินค้า งานร้านขายวิตามิน และ Supermarket
งานพวกนี้ถ้าตามเมืองใหญ่ๆก็จะมีร้านที่เจ้าของเป็นคนไทย และเน้นขายคนไทยไปเลยครับ ดังนั้นภาษาอังกฤษก็อาจจะไม่ต้องเด่นมากก็ได้ แต่ก็ต้องเป็นคนที่คล่องพอสมควร พูดจาชวนคุยเก่ง เป็นต้น
งานขายของในห้างสรรพสินค้า เช่น Myer จะเป็นงานที่หลายๆคนอยากทำ ซึ่งมีนักเรียนและ PR ทำอยู่ แต่สำหรับผู้ถือ WAH แล้วอาจจะโดนจำกัดด้วยประเภทของวีซ่าเหมือนกันครับ
งานประเภทนี้เป็นงานนึงที่หลายๆคนอยากทำ เพราะดูแล้วค่อนข้างสบาย ได้ฝึกภาษา
สรุปกันคร่าวๆว่างานประเภทนี้ควรจะต้องคล่อง ภาษาอังกฤษค่อนข้างดี ทำงานเป็นระบบ พูดและแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเก่งพอสมควรครับ ที่สำคัญก็คือต้องมีความรู้เรื่อง products ที่จะขายอย่างดี และสามารถอธิบายได้เป็นภาษาอังกฤษ
Others
นอกจากประเภทที่กล่าวมาแล้วก็ยังมีงานที่เราอาจจะยังไม่ได้กล่าวถึง ยังนึกไม่ถึง หรือไม่คุ้นอื่นๆอีกมาก เช่น สำหรับคนไทยเองก็จะมีงานนวดแผนไทย งานดรอปเมนู (เอาเมนูร้านอาหารไปเดินหย่อนตาม mailbox ตามบ้าน จ่ายค่าแรงตามจำนวน เช่น 1000 ใบได้ 50 AUD เป็นต้น) ส่ง Home (ขับรถส่งอาหาร – Home delivery)
หรือสำหรับนักเรียน อาจจะรับสอนพิเศษในสาขาที่เราเรียนอยู่ หรืออาจจะสอนภาษาไทยให้กับชาวต่างชาติที่สนใจก็ได้ครับ
วิธีการหางานและการเตรียมพร้อม
นอกจากประเภทของการจ้างงาน และชนิดของงานที่ได้กล่าวมาแล้ว ผมแนะนำให้อ่านอีกสองบทความนี้ด้วยครับ
เป็นการแนะนำว่าเราควรจะมีการเตรียมพร้อมอย่างไร และมีเวปไซต์อะไรบ้างที่ใช้บ่อยๆในการหางานในออสเตรเลีย
การสมัคร TFN online เมือ่ไปถึงออสเตรเลีย
TFN หรือ Tax File Number เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับใช้ในการทำงานในออสเตรเลีย เพราะก็คือเลขประจำตัวผู้เสียภาษี
สุดท้ายเป็นกระทู้ที่เป็นตัวอย่าง Resume format ที่ใช้กันในออสเตรเลีย ที่ผมทำเป็นตัวอย่างไว้ให้ครับ :)