Member Info
Introduction

Blog Archive

บล็อคอัพเดทล่าสุด

Sydney Gay and Lesbian Mardi Gras Festival: Fly the rainbow flag!


"
เสียงดนตรีประโคมดังเป็นระยะๆ พร้อมกับจังหวะกลองรัวที่เร้าใจ ผู้คนตามท้องถนนต่างส่งเสียงเชียร์ด้วยความสนุกสนาน บ้างก็ปรบมือ บ้างก็เป่านกหวีด และบางคนก็ส่งเสียงประหลาดเรียกร้องความสนใจจากผู้คนรอบข้างซึ่งสามารถเรียกเสียงขบขันจากผู้ที่อยู่รอบข้างได้เป็นอย่างดี... เสียงหัวเราะสลับกับเสียงเพลงดังประสานกับจังหวะกลองที่ดูเหมือนจะไม่ยอมให้เสียงอื่นใดมาแย่งความสนใจไปได้เช่นกัน... หลายๆ คนเริ่มโยกย้ายขยับร่างกายไปพร้อมกับจังหวะเสียงเพลงและเสียงกลองที่ดังอยู่เป็นระยะๆ..."


ทุกคนอาจจะนึกภาพไปถึงงานเฉลิมฉลองปีใหม่หรืองานเทศกาลใดเทศกาลหนึ่งซึ่งส่วนใหญ่ก็จะมีผู้คนมาร่วมแบ่งปันความสนุกสนานกันอย่างคราคร่ำ... แต่ถ้าพูดถึงงานเทศกาลรื่นเริงที่ยิ่งใหญ่และได้รับการกล่าวถึงในวงกว้างของมหานครซิดนีย์แล้ว คงหนีไม่พ้นงาน “Sydney Gay and Lesbian Mardi Gras” นั่นเอง...

เทวดาปีกขาวยืนอยู่เขียงข้างกับปีศาจหนุ่มเขาแหลมในชุดสีแดงสด หญิงสาวในชุดสีฉูดฉาดแซมด้วยหางนกยูงและขนนกยืนเด่นเป็นสง่าแทรกอยู่ท่ามกลางฝูงชน... ผู้คนอีกมากมายในชุดเครื่องแต่งกายที่แลดูแปลกตาและอลังการเมื่อได้พบเห็น...ธงสีรุ้งโบกสะบัดพัดปนไปกับฝูงชนที่ทยอยมาจับจองที่นั่งกันอย่างไม่ขาดสาย ขบวนพาเหรดพร้อมเครื่องแต่งกายหลากสีสันเริ่มเคลื่อนผ่าน ประดับประดาด้วยเลื่อมระยิบระยับสลับกับสีทองสุกประกายวาววับและอีกสารพัดสีดูเป็นที่น่าตื่นตาอย่างยิ่ง...

บางคนอาจจะนึกเพียงแค่ว่า เทศกาล “Sydney Gay and Lesbian Mardi Gras” นี้เป็นงานที่จัดขึ้นเพื่อชาวรักร่วมเพศแต่เพียงเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้คนมากมายทั้งจากในซิดนีย์เองและจากรัฐต่างๆ ของประเทศออสเตรเลีย รวมทั้งนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจำนวนมากได้ให้ความสนใจและเดินทางมาเพื่อเข้าร่วมชมหรือแม้กระทั่งเข้าร่วมในขบวน Gay Pride พาเหรดที่จัดได้ว่า ยิ่งใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลกก็ว่าได้

ต้นเหตุของงาน “Sydney Gay and Lesbian Mardi Gras” และ Gay Pride เกิดขึ้นจากการเรียกร้องสิทธิของกลุ่มคนที่ได้ชื่อว่ามีความหลากหลายทางเพศ (GLBT- Gay Lesbian Bisexual and Transgender) ที่นิวยอร์ค สหรัฐอเมริกาในปี 1968...ในสมัยนั้นการแสดงออกซึ่งรสนิยมชมชอบในเพศเดียวกันรวมทั้งการเปิดเผยตัวต่อสาธารณชนนั้นยังไม่เป็นทียอมรับกันเท่าใดนัก อีกทั้งการชื่นชอบในเพศเดียวกันก็ยังเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย1 ทางตำรวจสามารถเข้าตรวจค้นและจับกุมได้ทันที

เหตุการณ์วุ่นวายได้เกิดขึ้นที่ผับ Stonewall ในนิวยอร์ค (Stonewall Riots) ซึ่งเป็นที่รวมตัวของเหล่าบุคคลเพศที่สาม เหตุการณ์ได้เกิดบานปลายและรุนแรงขึ้น เมื่อมีการลุกฮือและประท้วงขัดขืนการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้บุกเข้าตรวจค้นผับแห่งนั้นในเช้าตรู่ของวันที่ 28 มิถุนายน 1969 การชุมนุมต่อต้านดำเนินต่อไปเป็นเวลาหลายวันด้วยความตรึงเครียดระหว่างผู้ชุมนุมกับตำรวจ...เหตุการณ์ในครั้งนั้นได้ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวทางด้านสิทธิมนุษยชนของกลุ่มคนชาวรักร่วมเพศ และเป็นครั้งแรกที่พวกเขาเหล่านั้นปฏิเสธการจับกุมอย่างไม่เป็นธรรมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

28 มิถุนายนของปีถัดไป ซึ่งถือได้ว่าเป็นวันครับรอบเหตุการณ์ Stonewall riots มีผู้คนจำนวนมากได้มาชุมนุมกันที่ถนน Christopher Street เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้น และร่วมเรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียมกันของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศโดยผู้ร่วมชุมนุมได้เริ่มเคลื่อนขบวนไปยัง Central Park พร้อมทั้งมีการชูป้ายและธงราว ตลอดจนสัญลักษณ์ต่างๆ ที่บ่งบอกถึงความเป็นเกย์ไปด้วยตลอดทาง นับได้ว่าการร่วมชุมนุมในครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของ Gay Pride Parade เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และเป็นที่มาของงาน “Sydney Gay and Lesbian Mardi Gras” ที่จัดขึ้นในนครซิดนีย์ ในอีก 9 ปีให้หลัง ทั้งนี้ได้มีการร่วมเดินขบวนแบบเดียวกันนี้ ใน Los Angeles และ Chicago เช่นกัน

จุดเริ่มต้นของงาน “Sydney Gay and Lesbian Mardi Gras” ในซิดนีย์ก็มีเหตุมาจากความรุนแรงเช่นเดียวกันโดยเริ่มขึ้นจากการชุมนุมและการจัดงานเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์วุ่นวายที่เกิดขึ้นที่ผับ Stonewall ของสหรัฐอเมริกา ผู้ร่วมชุมนุมได้เคลื่อนขบวนผ่านถนน Oxford Street ไปยัง Hyde Park ในตอนสายของวันที่ 24 มิถุนายน 1978 และจบลงด้วยการที่ตำรวจใช้กำลังรุนแรงเข้าจับผู้เข้าชุมนุม 53 คน และถึงแม้ว่าทั้งหมดจะได้รับการยกเลิกข้อกล่าวหาในเวลาต่อมา แต่หลายต่อหลายคนก็ถูกต้องสูญเสียหน้าที่การงานอย่างไม่เป็นธรรมด้วยข้อหาที่เขาเหล่านั้นเป็นพวกรักร่วมเพศส่งผลให้ในหลายๆ เดือนต่อมาได้มีการต่อสู้และประท้วงต่อต้านเป็นระยะ ๆ

ในปี 1979 งานเทศกาล “Sydney Gay and Lesbian Mardi Gras” เริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น มีผู้ร่วมเดินในขบวนถึงมากกว่า 3,000 คนในปีนั้น... ในปี 1980 ได้มีการริเริ่มจัดงานปาร์ตี้หลังงานพาเหรดขึ้นซึ่งมีผลตอบรับเป็นที่น่าพอใจ และในปี 1981 งานมาร์ดิกราส์ก็ได้ย้ายมาจัดงานในช่วงปลายหน้าร้อนของในซิดนีย์ซึ่งตรงกับเดือน กุมภาพันธ์-มีนาคมของทุกปีแทนพร้อมกับได้รับการตั้งชื่ออย่างเป็นทางการว่า “Sydney Gay Mardi Gras” ซึ่งต่อมาได้รับการเปลี่ยนชื่ออีกครั้งในปี 1988 เป็น “Sydney Gay and Lesbian Mardi Gras” จนได้กลายมาเป็นงาน Mardi Gras ที่ยิ่งใหญ่ซึ่งมีการถ่ายทอดสดผ่านทางโทรทัศน์ของออสเตรเลียและมีผู้เข้าชมเป็นจำนวนมาก

งาน Mardi Gras ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากมาย มีทั้งผู้สนับสนุน และมีเสียงต่อต้านต่างๆ มากมายทั้งจากผู้ที่เกลียดชาวรักร่วมเพศ (homophobia) และกลุ่มเคร่งศาสนาต่างๆ แต่งาน Mardi Gras ก็ยังคงเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในทุกๆ ปีทั้งในแง่ของการจัดงานและจำนวนผู้เข้าชมงาน...ในปีนี้ “Sydney Gay and Lesbian Mardi Gras” ย่างเข้าปีที่ 32 และเพื่อระลึกถึงการต่อสู้และการเติบโตรวมทั้งวิวัฒนาการตลอดจนสิทธิความเท่าเทียมกันของความเป็นมนุษย์ รูปแบบการจัดงานในปีนี้จะเน้นไปที่ “History Of The World” เพื่อตระหนักถึงความเป็นมาตลอดจนความเท่าเทียมกันของสังคมให้เป็นที่ประจักษ์... พวกเขาเหล่านี้ไม่ได้แตกต่างอะไรจากคนธรรมดาทั่วไปและพวกเขาเหล่านั้นควรจะมีสิทธิ์ที่จะอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุขโดยปราศจากความรุนแรงที่เกิดจากความคิดเห็นที่ว่าตนเองเหนือกว่าคนอื่นของคนบางกลุ่ม



ทุกวันนี้ “Sydney Gay and Lesbian Mardi Gras” จัดขึ้นประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคมของทุกปีสามารถดึงดูดผู้คนต่างๆ จากทั่วโลกและสร้างรายได้จำนวนมากใฟฟห้กับรัฐ New South Wales ของประเทศออสเตรเลียโดยมีกิจกรรมหลักๆ คือขบวนพาเหรดที่ยิ่งใหญ่อลังการเป็นที่น่าตื่นตาของคนทั่วไปที่จะจัดขึ้นในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ นอกจากนี้ทางผู้จัดงานยังจัดให้มีงาน Fair Day, Queer Film Festival, การแสดงดนตรี และการจัดนิทรรศการต่างๆ ทั่วทั้งเมืองซิดนีย์ ตลอดจนงานรื่นเริง และงานเฉลิมฉลองต่างๆ ตลอดทั้งช่วง 2-3 อาทิตย์ของงาน “Sydney Gay and Lesbian Mardi Gras” อีกด้วย

ประเทศไทยเองก็มีส่วนร่วมในขบวนพาเหรดในหลายๆ ปีที่ผ่านมา ใครที่สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมขบวนพาเพรดได้ที่ชุมนุมหรือสมาคมต่างๆ ที่เข้าร่วมขบวนพาเหรดได้ หรือถ้าสนใจเข้าร่วมขบวนพาเพรดของคนไทย ก็ติดตามข่าวสารได้ตามเว็บไซต์ของชุมชนชาวไทยในซิดนีย์ได้เช่นกัน หรือหากคนใดสนใจจะสมัครเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเจ้าหน้าที่จัดงาน ก็สามารถทำได้โดยสมัครเป็นอาสาสมัครได้ที่ www.mardigras.org.au และสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์เดียวกัน...Have a happy and safe Mardi Gras!



Hightlight:

Fair Day: 21 Feb 2010, Victoria Park
Sydney Gay and Lesbian Mardi Gras Parade: 27 Feb 2010, Oxford Street
After Parade Party (Carnival theme): 27 Feb 2010, Entertainment Quarter, Fox Studio
Mardi Gras Party: 6 March 2010, Fox Studio
Mardi Gras Film Festival: 12 Feb - 6 Mar 2010, various venue

ที่มา
www.wikipedia.org
www.mardigras.org.au
www.queerscreen.com.au
2010 volunteer handbook

Posted : Feb 24, 2010 , 15:29:33 PM     View : 34915
02 No.
First Last 01 No.
ชอบข่าวสารมากค่ะ >>> slotxo
reply    report